ขสมก. ผนึกยูเอ็นวีเมน ร่วมสร้างพื้นที่โดยสารปลอดการคุกคามทางเพศ
ขสมก. ร่วมโครงการ “รถเมล์ปลอดภัย” หนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ระดับสากลของยูเอ็นวีเม่น (un women) เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ผนึกกำัลังขจัดการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กบนรถโดยสารประจำทางจำนวน 3,509 คัน
(20 พ.ย.56) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมโครงการ “รถเมล์ปลอดภัย” หรือ “ออเร้นจ์ยัวเจอร์นี่ย์” (orange your journey) หนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ระดับสากลของยูเอ็นวีเม่น (un women) และยูไนท์แคมเปญเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงของเลขาธิการสหประชาชาติ (unite campaign to end violence against women) เพื่อขจัดการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กบนรถโดยสารประจำทางจำนวน 3,509 คัน
จากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับ มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ได้ดำเนินกิจกรรม “รณรงค์ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยคุกคามทางเพศบนรถขสมก.” มาอย่างต่อเนื่องนั้น
ในวันนี้ ขสมก.ได้เข้าร่วมกับยูเอ็นวีเมน (un women – องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ) ด้วยการเชื่อมโยงกิจกรรมสู่เป้าหมายสากลในการยุติความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง
ขสมก. ได้จัดฉายภาพยนตร์สั้นพร้อมแจกแผ่นพับและสติกเกอร์รณรงค์หยุดพฤติกรรมการคุกคามทางเพศซึ่งประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ รถประจำทาง รวมทั้งพนักงานเก็บค่าโดยสารเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะพบกับพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ และเพื่อให้สังคมไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำดังกล่าว ได้ร่วมกันสอดส่องและดูแลไม่ให้เกิดปัญหาคุกคามทางเพศขึ้น พร้อมกับเสานาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพนักงานขสมก. ที่เป็นอาสาสมัครในการช่วยระวังสอดส่องพฤติกรรมเหล่านี้ หรือเป็น “ตาสัปปะรด” เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางเพศทั้งในที่ทำงานอู่จอดรถของ ขสมก. ทั้ง 8 เขต และบนรถโดยสารประจำทางที่ ขสมก. มีเส้นทางเดินรถอยู่ 114 เส้นทาง
นายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า ขสมก. ขยายพื้นที่ความปลอดภัยสู่ประชาชนผู้ใช้บริการเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการบริการรถโดยสารสาธารณะ และเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่จะมอบความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม
ด้าน นางโรเบอร์ต้า คล้าค ผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผู้หญิงทุกคนควรจะต้องได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
ทั้งนี้ กิจกรรมการรณรงค์เพื่อให้สังคมและคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องตื่นตัวและไม่นิ่งเฉย โดยเฉพาะพนักงานขสมก. ได้แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน โดยในการฝึกอบรมนั้นได้จำแนกพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศไว้ ไม่ว่าจะโดทนทางสายตา ทางคำพูด หรือการสัมผัส เช่น ลูบมือ จับสะโพก หรือพูดจาลวนลาม เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการติดสติกเกอร์หยุดการคุกคามทางเพศในรถ ขสมก. และท่าปล่อยรถทุกแห่ง รวมทั้งนำภาพยนตร์สั้นเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและระมันระวังต่อปัญหาดังกล่าว
ที่มา : องค์กรยูเอ็นวีเม่น (un women) สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก