ขยาย ’10 ภาพคำเตือนพิษบุหรี่ไทย’ ให้ใหญ่สุดในโลก

          สธ.สั่งผู้ประกอบการขยาย 10 ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85% ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมจี้ระบายซองแบบเก่าให้หมดก่อน 23 ก.ย. 57 ด้านปลัดฯ ระบุ สธ.ทำถูกต้องและยึดประโยชน์สุขภาพประชาชน…


/data/content/24867/cms/e_dfknprsty148.jpg


          เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษาสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวถึงกรณีที่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ให้ทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ ในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ.2556


          นพ.โสภณ กล่าวว่า ความคืบหน้าของคดีพิพาท กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2556 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัย โดยกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่ต้องพิมพ์ภาพคำเตือนพิษภัยบุหรี่ เพิ่มจากขนาดเดิมคือร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 บนพื้นที่ซองบุหรี่ ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีทั้งหมด 10 ภาพ และช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต โดยมีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเมื่อวันที่ 6 มี.ค.56 และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 เม.ย.56 และมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 180 วัน คือ 2 ต.ค.56


          จากนั้นมีบริษัทผู้ประกอบธุรกิจยาสูบคือ เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทเจที ยื่นฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกประกาศฯ และขอให้คุ้มครองชั่วคราว เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.56 ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อทุเลาการบังคับใช้ประกาศฯ นั้น


/data/content/24867/cms/e_acdghlmorw27.png


          นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.57 สธ.ได้รับหนังสือจากศาลปกครองสูงสุด โดยคำสั่งที่ 269/2557 ลงวันที่ 29 พ.ค.57 มีคำสั่งให้ยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้นแล้ว พร้อมระบุว่า สธ.ดำเนินงานถูกต้องตามขั้นตอน ยึดประโยชน์ปกป้องคุ้มครองสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจยาสูบถือปฏิบัติได้


          ทั้งนี้ ประกาศ สธ.ฉบับนี้ มีข้อกำหนด 11 ข้อ และมีผลบังคับใช้ทันที ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองสั่ง ดังนั้น ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าบุหรี่ซิกาแรตทุกราย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายดังนี้


          1. ต้องจัดพิมพ์ฉลากรูปภาพข้อความคำเตือนที่ซอง หรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรตที่จะจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย ให้มีขนาดร้อยละ 85 ของด้านที่มีพื้นที่มากที่สุดอย่างน้อย 2 ด้าน โดยกำหนดให้บุหรี่ซิกาแรตที่บรรจุอยู่ในกล่อง หรือกระดาษหุ้มห่อซอง หรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต (Carton) ต้องแสดงฉลากรูปภาพและข้อความคำเตือน จำนวน 10 แบบต่อ 1 คาร์ตัน (Carton) โดยจัดพิมพ์ 10 แบบคละกันในอัตรา 1 แบบต่อ 5,000 ซองหรือภาชนะบรรจุบุหรี่ซิกาแรต รวมทั้งพิมพ์ช่องทางติดต่อ เพื่อการเลิกยาสูบคือหมายเลขโทรศัพท์ 1600


          2. เงื่อนเวลาต่างๆ ตามประกาศฯ กล่าวคือ การผ่อนผันให้ผู้ผลิตหรือนำเข้ามาก่อนประกาศมีผลใช้เป็นเวลา 90 วัน ตามข้อ 9 และ 180 วันสำหรับผู้นำเข้าหลังประกาศมีผลใช้ ตามข้อ 11 ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ผลิตและนำเข้าบุหรี่ซิกาแรตได้ล่วงเลยไปแล้ว จึงไม่สามารถนำกลับมาใช้เพื่อประโยชน์แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้อีก


          นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า จะให้เวลาผู้ประกอบ 90 วัน ในการระบายสินค้าในท้องตลาดที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ หรือแบบเก่า ภายในวันที่ 23 ก.ย.57 นี้ จากนั้น เจ้าหน้าที่จะเริ่มออกตรวจสินค้า และหากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และผู้จำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตที่ไม่ได้แสดงฉลากตามที่กำหนดไว้ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท อย่างไรก็ตาม ภาพคำเตือนใหม่ 10 แบบ พร้อมข้อความคำเตือนมีดังนี้


          1. โปรดงดสูบบุหรี่ในบ้าน


          2. ควันบุหรี่ฆ่าเด็กได้


          3. สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งกล่องเสียง


          4. สูบบุหรี่ทำให้หัวใจวาย


          5. สูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดสมองแตก


          6. สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปาก


          7. สูบบุหรี่ทำให้เซ็กซ์เสื่อม


          8. สูบแล้วปากเหม็นบุหรี่


          9. สูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งปอด


          10. สูบแล้วทรมานจนตายจากถุงลมพอง


          สำหรับกรณีการพิพาทประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ระหว่างบริษัทผู้ประกอบการบุหรี่ข้ามชาติ กับกระทรวงสาธารณสุขไทยครั้งนี้ จัดเป็นคดีพิพาทระดับโลก องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกทั่วโลก ให้ความสนใจไทย จับตามองมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงและการรุกคืบการปกป้องสุขภาพประชาชน โดยใช้กฎหมายบังคับ เรื่องการพิมพ์ภาพคำเตือนพิษภัยของบุหรี่ขนาดใหญ่ที่สุด สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทย เพราะครึ่งหนึ่งของคนไทยที่สูบบุหรี่หรือประมาณ 6 ล้านคน มีระดับการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรือต่ำกว่า และผลการวิจัยพบว่าการใช้ภาพสีขนาดใหญ่ เป็นการสื่อสารความเสี่ยงกับสุขภาพได้ดีกว่า ผู้บริโภคตอบสนองเชิงบวกในการจดจำ มีทัศนคติที่ดีต่อการโฆษณาหรือต่อตราสินค้า รู้สึกว่างานโฆษณามีส่วนรับผิดชอบ กระตุ้นความรู้สึกและความต้องการของผู้สูบที่จะเลิกสูบ ช่วยลดการบริโภคยาสูบได้ในที่สุด


 


 


       ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ


       ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code