ขยายแนวคิดข้าวแลกปลา สู้ภัยโควิด-19
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
แฟ้มภาพ
แนวคิดแลกเปลี่ยนสินค้าดูแลชุมชนช่วงโควิด-19 เพื่อลดผลกระทบและช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านจึงเดินหน้าขยายโครงการ เพื่อนำสินค้าจากท้องถิ่นเข้าถึงประชาชนเพิ่มขึ้น
นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) กล่าวว่า หลังจากปัญหาไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เน้นให้ความสำคัญกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ผ่านนโยบาย Local Economy จากนี้ไป กองทุนหมู่บ้าน จะเน้นพัฒนาคุณภาพสมาชิก ทั้งการผลิต การสร้างรายได้ รองรับนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความเป็นอยู่ดีขึ้น การลดค่าครองชีพสมาชิกในชุมชน การพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนพึ่งพาตนเอง พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศได้เอง ลดพึ่งพาการส่งออก เนื่องจากเห็นว่ากองทุนหมู่บ้านมีสมาชิกอยู่กว่า 12.9 ล้านครัวเรือน นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเศรษฐกิจได้ในอนาคต
นายรักษ์พงษ์ กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านจึงเริ่มนำนโยบายเศรษฐกิจฐานรากหลายโครงการ ในการฟื้นฟูชุมชน อย่างเช่น แนวคิดการแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างกองทุนหมู่บ้านด้วยกันเอง เช่น บ้านท้องคุ้ง หมู่ที่ 4 ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้นำข้าวสารจากพื้นที่ของตนเอง จำนวน 300 ถุง ถุงละ 5 กิโลกรัม เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหารทะเลแปรรูปของสมุทรสาคร
โดยการประเมินราคา เป็นการตกลงราคากันด้วยความสมัครใจ นำมาแลกกับอาหารทะเลของกองทุนหมู่บ้านฯ ท้องคุ้ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสองชุมชน ทำเป็นประจำมานานแล้ว ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการให้กองทุนหมู่บ้านอื่น นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้แลกเปลี่ยนสินค้า ของดีในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้สมาชิกในแต่ละชุมชนได้ซื้อสินค้าราคาถูก