ขยายผลจากต้นแบบ สู่สภาชุมชนสไตล์เรา
บ้านสำโรง เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ชานเมืองสุรินทร์ ที่นี่นอกจากมีปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่มีสาเหตุมาจากการใช้สารเคมีปลูกผักเศรษฐกิจเป็นอาชีพแล้ว ยังคงมีปัญหาอื่นอีกหลายด้าน เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความแตกแยกทางการเมือง อัตราการดื่มแอลกอฮอล์สูงติดอันดับในหมู่บ้าน เป็นต้น
วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านมีลักษณะที่แตกต่างอย่างชัดเจนคือ กลุ่มหนึ่งปลูกผักจำหน่าย อีกกลุ่มหนึ่งทำงานรับจ้าง ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างคนต่างอยู่ ขาดการรวมกลุ่มที่สำคัญคือ ปัญหาดังกล่าวไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
สถานการณ์นี้ ผลักดันให้ พีรวัศ คิดกล้า อายุ 33 ปี ที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี 2555 คิดสร้างแกนนำชุมชนและพัฒนาให้มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของหมู่บ้าน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการดูสารคดีเกี่ยวกับการพัฒนาบ้านหนองกลางดง จ.ประจงบคีรีขันธ์ ที่นำเสนอเรื่องราวการจัดตั้ง “สภาผู้นำ” ขึ้นมาเป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหาภายในชุมชนของตนเอง เพราะปัญหาของบ้านสำโรงนั้นไม่ต่างจากบ้านหนองกลางดงเลย
และเมื่อ สสส. ประกาศแนวทางสนับสนุนทุนโครงการ “ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่” โดยมีกลไก “สภาผู้นำชุมชน” เป็นแม่แรงขับเคลื่อน จึงสอดคล้องกับแนวความเชื่อที่ผู้นำชุมชนมีอยู่เดิม และนำมาสู่โครงการ “ร่วมสร้างชุมชนบ้านสำโรงให้น่าอยู่ ปลูกผักปลอดสารเคมี” โดยคาดหวังว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพให้สมาชิกสภาผู้นำฯ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของหมู่บ้านให้สำเร็จ
ความพยายามในครั้งนี้ เพราะเมื่อสิ้นสุดลงโครงการปีแรก ชุมชนแห่งนี้ “น่าอยู่” กว่าเดิมอย่างน้อยใน 4 ด้านคือ
1. ชุมชนปลอดพฤติกรรมเสี่ยง ครัวเรือนปลอดเหล้าเพิ่มขึ้นจาก 37 ครัวเรือน เป็น 54 ครัวเรือน เพราะสภาผู้นำฯ เชิญชวนและทำเป็นตัวอย่าง รวมทั้ง งานศพปลอดเหล้าทุกงาน เพราะประชาชนยอมรับในกติกาที่กำหนดโดยสภาผู้นำฯ ลดค่าเหล้าได้ปีละ 120,000 บาท
2. พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพราะมีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ โดยมีกิจกรรมออมทรัพย์และจัดสวัสดิการตอบแทน รวมทั้งกิจกรรมสร้างการรวมกลุ่ม และให้กำลังใจผู้สูงอายุอีกหลากหลาย
3. ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ครัวเรือนร้อยละ 86 มีการคัดแยกขยะ ตามมติประชาคมและสภาผู้นำฯ ออกตรวจตราให้เป็นไปตามมติทุกเดือน
4. เกษตรและอาหารปลอดภัย ทุกครัวเรือนปลูกผักอินทรีย์ไว้บริโภคในครัวเรือน 5 ชนิด นอกจากนี้ยังมีการปลูกผักอินทรีย์ปลอดสาเคมีเพื่อจำหน่าย 36 รายและทำนาอินเทรีย์ 21 ราย
ความเปลี่ยนแปลงดังที่ได้กล่าวมานี้มา “สภาผู้นำชุมชน” เป็นกลไกสำคัญในการชักชวน กระตุ้น และคอยสนับสนุนให้สมาชิกชุมชนปฏิบัติ ดังนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการและการดำเนินงานของสภาผู้นำชุมชนจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ที่มา: หนังสือชุมชนน่าอยู่ ประตูสู่ความสุข