ขยายฐานชุมชน สร้างท้องถิ่นน่าอยู่
หลังจากที่ "สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ" หรือ "สสส." ได้ทำการรณรงค์ให้ ลด ละ เลิก "บุหรี่-เหล้า" ผ่านโฆษณากระตุ้นสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด "สสส." ก็ได้ขยายฐานการทำงานในชุมชน เน้นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
แฟ้มภาพ
โดยการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ ผ่านผู้นำชุมชน และชักชวนให้คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วม ลด ละ เลิก "บุหรี่-เหล้า" ก่อนหน้านี้ "สสส." ได้ทำงานร่วมกับ "เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่" มาอย่างต่อเนื่อง และเห็นร่วมกันว่า งานด้านการ "สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน" เป็นสิ่งจำเป็นที่ชุมชนท้องถิ่น ต้องร่วมคิดร่วมทำ
ดังนั้น จึงมีการประกาศเจตนารมณ์ ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ในการทำงานขับเคลื่อนประเด็นสุขภาวะต่างๆ ขึ้น โดยเป็นการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" หรือ "อปท." จำนวน 371 แห่ง ใน 59 จังหวัด
6 ประเด็นสุขภาวะ ซึ่งประกอบไปด้วย
1.ชุมชนปลอดเหล้า และลดอุบัติเหตุจราจร โดยในประเด็นแอลกอฮอล์ จะมีการตั้งศูนย์ควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ 3 แห่ง เน้นการทำงานต่อยอดจากเทศกาลงานบุญต่างๆ อาทิ งานศพ งานแต่งงาน ประเพณีแข่งเรือยาว งานบุญบั้งไฟ
2.ขับเคลื่อนเกษตรกรรมเพื่ออาหารชุมชน
3.การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ
4.การจัดการขยะและมลพิษ
5.การพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชน
6.ชุมชนปลอดบุหรี่ ที่มุ่งทำงานให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การควบคุมยาสูบ ที่จะมีการตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่าย ควบคุมบริโภคยาสูบ 15 แห่ง และจะมีการกำหนด "เป้าหมาย" ในการลดบริโภคยาสูบอย่างชัดเจน โดยจะเน้น 3 ด้าน คือ 1.การสร้างครอบครัวไร้ควัน โดยเริ่มจากครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หรือครอบครัวที่มีผู้ป่วยเรื้อรัง คนในบ้านจะต้องเลิกบุหรี่ให้ได้ 100% 2.การสร้างคนต้นแบบเลิกบุหรี่ โดยผู้นำในชุมชน จะต้องเลิกบุหรี่เป็นตัวอย่าง และ 3.การสร้างพื้นที่ปลอดควัน โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ
นี่เป็นการรุกอีกขั้น และเดินหน้าอีกจังหวะก้าวของ "สสส." และทั้งหลายทั้งปวงที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่เพื่อใครอื่น แต่เพื่อเราและชุมชนของเรานี่แหละ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ