“ขยะเปลี่ยนคน” เปลี่ยนชีวิตที่มหาวิชชาลัยบ้านแฮด

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ภาพโดย สสส. 



จากถังขยะมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ  ไม่เคยเข้าใจว่าแยกขยะคืออะไร? แต่ใครจะเชื่อว่า ชุมชนบ้านแฮดวันนี้กำลังดวงรุ่งพุ่งแรง เพราะกำลังเป็น  มหาวิชชาลัยแห่งที่สามของประเทศ และแห่งแรกของภาคอีสาน ในชื่อ มหาวิชชาลัยบ้านแฮดสร้างความเท่าเทียม (BANNHAD University of Technology for Equity(BANNHAD UTE) 


เทศบาลตำบลบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เป็นเทศบาลที่มีการบริหารจัดการตำบลแบบมีส่วนร่วม และยังส่งเสริมให้เป็นชุมชนสิ่งแวดล้อมสุขภาวะ ผ่านการดำเนินการในรูปแบบหมู่บ้านจัดการตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากหน่วยงานราชการท้องถิ่น ที่เข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพและแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตชุมชนด้วยการสร้างการมีส่วนร่วม ของชาวบ้านชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งหากถามว่าบ้านแฮดมีดีอะไร จากชุมชนบ้านๆ ที่ไม่ได้มีอะไรเลย ไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือสถานที่ ท่องเที่ยวสุดฮิปเป็นของตัวเอง ก็ต้องนับว่าที่นี่มี "คน" นี่แหละที่เป็นทุนที่มีศักยภาพ จนสามารถเปลี่ยนชีวิต พวกเขาได้ในวันนี้



"เราไม่ได้คาดคิดด้วยซ้ำว่าเรา จะมาถึงจุดนี้"  ศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีดีกรีดอกเตอร์ ของเทศบาลบ้านแฮด เผยถึงความรู้สึก ย้อนไปกว่า 9 ปีก่อน ใครเลยจะ คิดว่า "บ้านแฮด" จะมาไกลถึงจุดนี้ แต่จากการมองเห็นว่าแม้บ้านแฮดได้รับการพัฒนาด้านโครงสร้างต่างๆ สร้างความเจริญจากภาครัฐ แต่กลับสวนทางกับ ปัญหาทางสังคมที่ชุมชนยังประสบปัญหาอีกหลายด้าน ซึ่งด้วยความต้องการแสวงหาวิทยาการใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อเข้า มาช่วยพัฒนาชุมชนให้เกิดในวิถีการพัฒนาแห่งความยั่งยืน เทศบาลบ้านแฮด จึงได้เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสมัครร่วมกับเครือข่ายกับองค์การบริหารส่วนตำบลป่าโมง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี


"ผมมาเป็นนายกปี 2548 ที่นี่ไม่มีอะไรเลยจริงๆ แต่เราพยายามให้คนเกิดคุณค่า ด้วยการเรียนรู้ไปด้วยกัน เราเริ่มต้นจากการทำตำบลสุขภาวะ ก็เห็นว่าดีเป็นประโยชน์กับชุมชน การเรียนรู้มันยกระดับไปเรื่อยๆ แต่ถ้าถามผมเอง วันนี้ผมยังไม่แน่ใจหรอกว่าเราเก่งไหม แต่ในเมื่อเขามอบโอกาส ให้เราก็ต้องเดินหน้า" 


หากมองหาหัวใจสำคัญที่ทำให้ก้าวสู่ความสำเร็จ นายกฯ บ้านแฮด เฉลยว่าคือ "ความร่วมมือ"


"ที่นี่ต้องยอมรับว่าการมีส่วนร่วม ค่อนข้างเข้มข้นและสูงมาก ผมเลยบอกว่า ความร่วมมือเป็นจุดเริ่มต้นที่สูงมาก แต่ถ้า ถามว่าได้มาอย่างไร เพราะเราให้ความสำคัญกับทุกคน เริ่มจากเปิดกว้าง ให้สิทธิ์ใน การตัดสินใจ การคิด การร่วมกระบวนการแต่ของเหล่านี้ต้องใช้เวลาหล่อหลอม เพราะกลไกคือคน ที่มีความคิดต่างกัน  กว่าจะหลอมให้เกิดจุดรวมได้เราต้องทำมาถึงเก้าปี แล้วเราก็ไปเติมความรู้ให้เขาไป"


กลยุทธ์ไม่ลับที่คนบ้านแฮดหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือ "สร้างคน" และ "สร้างความร่วมมือ" คือเรื่องง่ายๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึง โดยบ้านแฮดเลือก "ขยะ" มาเป็นเครื่องมือในการปรับทัศนคติ เรื่องนี้นายกฯ กระซิบบอกเหตุผลว่า "พอทำแล้วมันดี เขาก็ยอมเปลี่ยน"



นายกฯ เผยต่อว่า ก่อนหน้าที่บ้านแฮดจะติดป้าย "ชุมชนสุขภาวะ" ก็เริ่มต้นจากขยะล้นชุมชน ไม่แตกต่างจากชุมชนทั่วไป เทศบาลต้องจัดเก็บถึงวันละกว่า 6 ตัน  แต่หลังในปี 2553 ที่เริ่มมีการจัดการขยะเริ่มลดมาเหลือเพียงวันละ 3 ตัน "ต้องเริ่มจากการทำตัวอย่างให้เห็นก่อนว่าสิ่งที่กำลังทำมันส่งผลกระทบต่อตัวเขา" นอกจากนี้ยังต่อยอดการทำงานโดยใช้ทุนที่มีในชุมชนคือผู้นำชุมชนนี่แหละมา ต่อยอด เป็นตัวอย่างที่เริ่มนำร่อง จนปัจจุบันนี้บ้านแฮดมีแหล่งเรียนรู้จัดการขยะในชุมชนถึง 10 แหล่งทีเดียว


เรื่องนี้ มีบุคคลตัวอย่างที่จะมาถ่ายทอดให้ฟัง ไพโรจน์ จำพร ผู้ใหญ่บ้าน โนนกล้วยหอม ตำบลบ้านแฮด ที่วันนี้ได้กลายเป็นอีกต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ธนาคารขยะเพื่อชุมชน ที่มีรางวัลการันตีการทำงานเสียด้วย          



"เริ่มจากเราเห็นอีก 2 หมู่บ้านเขาทำ ไปก่อนแล้วมันดูดี สะอาด อากาศดีไม่มีกลิ่น รบกวน เป็นระเบียบ เลยไปปรึกษานายกฯ ว่าชุมชนผมอยากทำบ้าง แล้วจึงไปทำประชาคมกันในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ถามกลับมาว่าถ้าเอาถังขยะออกแล้วจะไปทิ้งที่ไหน ซึ่งทางเทศบาลเขามาสอนเราแยกขยะ  พอปี 59 เทศบาลมาเอาขยะออก แล้วเอาถุงแยกขยะมาให้แทน"


จากขยะ 500 กิโลกรัมต่อวันที่เทศบาลมาขนออกไปจากหมู่บ้าน วันนี้เหลือแค่ 206-207 กิโลกรัม และเทศบาลรับนำไปกำจัดจากชาวบ้านไปแค่ 40 กิโลกรัม  เพราะที่เหลือชาวบ้านแยกขยะกันตั้งแต่ที่บ้าน ทั้งเอาไปรีไซเคิล เอาไป ทำปุ๋ย และขายนำรายได้เข้ากองทุน



"วันนี้เราประสบความสำเร็จ  แม้ยังไม่ถึง 100% แต่เราได้รางวัล อันดับ 3 ของโครงการ Zero Waste  ในปี 2561 มันก็ภูมิในเล็กๆ ในความ เข้มแข็งของเรา"


ตลอดระยะเวลาการขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะของพื้นที่บ้านแฮดกว่าหกปี ได้นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และเป็นพื้นที่ต้นแบบให้เรียนรู้เรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการลดปัจจัยเสี่ยงและเพิ่มปัจจัยเสริมสร้างสุขภาพ ด้วยการจัดระบบสุขภาพชุมชนด้วยตนเอง ที่ได้ แรงหนุนจากพลเมืองจิตอาสาในชุมชนที่เชื่อและมองเห็นพลังของความร่วมมือร่วมใจแท้จริง


"หลักการสำคัญคือว่า บ้านแฮดได้ปฏิบัติการโดยเข้าร่วมเป็นเครือข่ายชุมชนน่าอยู่ท้องถิ่นเข็มแข็งจนคนในชุมชนดูแลกันจนไม่มีความเหลื่อมล้ำในชุมชน นอกจากนี้ที่นี่เป็นตัวอย่าง ปฏิบัติการที่ชุมชนทำได้ช่วยหนุนนโยบายของรัฐที่เห็นเป็นรูปธรรม ว่าการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมกันเกิดขึ้นได้จริงในระดับท้องถิ่น เพราะฉะนั้นมหาวิชชาลัยแห่งนี้ เกิดขึ้นได้จากปฏิบัติการจริง ไม่ใช่ แค่เรื่องทฤษฎี" คำอธิบายจาก ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ผู้ชักนำบ้านแฮดเข้าสู่วงการชุมชนจัดการตนเอง จนมาถึงมหาวิชชาลัยบ้านแฮดพูดถึงจุดแข็งบ้านแฮด



โดยที่บ้านแฮดนี้จะเป็นศูนย์ฝึกอบรมสำหรับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศที่สนใจเรื่องความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ที่มีปฏิบัติการจริง ที่เกิดจาก 4 องค์กรหลัก หนึ่งคือองค์กรชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการเรื่องขยะในชุมชน ลุกขึ้นมาจัดการเรื่องเยาวชนที่กำลังไปผิดทิศผิดทาง ลุกขึ้นมาจัดการเรื่องธรรมาภิบาลให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ สอง คือหน่วยงานรัฐในท้องที่ ได้แก่ รพ.สต. หรือ รพ.ชุมชนแถวนี้ ให้ลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพของตัวเอง  โดยบทบาทหนุนชาวบ้าน สาม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังเป็นผู้ดูแลสมาชิกในชุมชน ให้ปลอดภัย สี่ องค์กรปกครองท้องถิ่น มีตึกรามบ้านช่อง อำนวยความสะดวก ให้โครงการมารองรับ


"ที่นี่มีโรงเรียนเป็นของตัวเอง จึงมีต้นทุนที่แตกต่างกับ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นอื่นที่ไม่มีโอกาสจัดการหลักสูตรให้ลูกหลานตัวเอง แสดงให้เห็นว่าถ้า ท้องถิ่นจัดการศึกษาให้ตัวเองสามารถ ไม่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมอย่างไร  ความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ที่นี่คือพื้นที่ให้ 15 องค์กรส่วนท้องถิ่นมาเรียนรู้" ดวงพร เผยถึงจุดดีจุดเด่นที่บ้านแฮดต่อ


"ที่จริงแล้วบ้านแฮดเราไม่ได้เป็นคนเลือกเขานะ เขาเป็นด้วยตัวเอง ที่สำคัญ นายกฯ เขาพร้อมที่จะรับความลำบาก ในการประเมิน เรายอมรับว่าหาพื้นที่เป็นอาสาสมัครยาก แต่เพราะเขาอยากสร้างเศรษฐกิจชุมชน เขาอยากให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง การที่มีคนมาเรียนรู้ พื้นที่เขา เขาได้กำไรเยอะเพราะจะเป็น มหาวิชชาลัยได้ ต้องมีโฮมสเตย์ มีทำอาหาร จัดยานพาหนะ ฉะนั้นเหมือนเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชน อาหารปลอดภัยต้องสร้างกลุ่มผลิตผัก จะเห็นว่ามันครบวงจร"



สำหรับมหาวิชชาลัยบ้านแฮดจะมีหลักสูตรในการถ่ายทอดที่มีอยู่ใน 4 หมวด รวมประมาณ 13-14 วิชา โดยมีวิชาหลัก ในเรื่องของการสร้างการเรียนรู้ วิชาสร้างการมีส่วนร่วม วิชาเรื่องของธรรมาภิบาล ทุกคนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน มหาวิชชาลัยบ้านแฮดจะต้องผ่านการเรียนรู้ในสามวิชาดังกล่าว จากนั้นก็จะเข้าไป เรียนต่อในเรื่องเรียนรู้เรื่องการเหลื่อมล้ำ การสร้างนวัตกรรม



ศิริพงษ์ บอกว่า การเป็นมหาวิชชาลัยไม่ได้เป็นเครื่องหมายการันตีกว่าคน บ้านแฮดเก่งหรือมีความสามารถ แต่มันคือมาตรฐานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและศักยภาพคนในบ้านของเขาเอง


"มันเป็นสิ่งที่เราพอใจว่าเราถูก ประทับตรา ISO หรือ มอก. เราไม่ได้คิดว่าเราเปิดเป็นมหาวิชชาลัยแล้วเราเป็นพื้นที่ ที่ให้คนมาเรียนนะ แต่เราคิดว่าจะทำให้ การเรียนรู้ของคนบ้านแฮ่ดเองยกระดับขึ้นมา แน่นอนว่าเราต้องทำงานหนักขึ้น เพราะคำว่ามหาวิชชาลัยแปลว่ามันเป็นความเชี่ยวชาญที่จะต้องถ่ายทอดได้ แต่มหาวิชชาลัยจะทำให้การจัดการที่บ้านแฮดเกิดการปรับเปลี่ยน เพราะกระบวนการมันค่อนข้างมีความละเอียด อาจภายใน 2 ปี เปลี่ยนในหลายเรื่อง  เข้าระบบมากขึ้นแล้วเราจะเอา ISO ตัวนี้ แหละมาทำให้ชุมชนบ้านแฮดยกระดับขึ้น"


บทเรียนจากคนบ้านแฮด อาจเป็น การพิสูจน์ได้ว่า หากคนๆ หนึ่งได้รับโอกาสในการพัฒนา ก็ย่อมกลายเป็นคนที่มีศักยภาพได้ "เชื่อไหมถ้าย้อนไปเมื่อก่อน ไม่มีใคร คิดว่าเป็นไปได้หรอก ทะเลภูเขาเราก็ไม่มี แต่ผมมองว่ามันกลับเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะชุมชนลักษณะแบบบ้านแฮดนี่ ในประเทศไทยมีเยอะมาก เขาสามารถ มาเรียนและปรับใช้ โดยไม่จำเป็น มีทุนมหาศาลแบบเรานี่แหละ"  นายกฯ บ้านแฮดกล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code