“ขยะอาหารส่วนเกิน” ปริมาณสูงขึ้น ทีดีอาร์ไอเสนอรัฐบาลเพิ่มมาตรการลดปริมาณขยะ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ



แฟ้มภาพ


คนไทยสร้างขยะอินทรีย์- ขยะอาหารเฉลี่ยคนละ 254 กก.ต่อปี ขณะที่เด็กไทยราว 6 แสนคน มีอาหารไม่เพียงพอ นักวิชาการทีดีอาร์ไอเสนอรัฐบาลเพิ่มมาตรการด้านภาษีเพื่อลดปริมาณขยะอาหาร-ออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริจาคอาหารส่วนเกิน


จากข้อมูล ThaiHealth Watch สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ระบุถึงปัญหา 10 พฤติกรรมสุขภาพคนไทยที่ต้องจับตาในปี 2563 หนึ่งในนั้น คือ เรื่องขยะอาหาร อาหารส่วนเกิน โดยมีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในปี 2560 ขยะที่เกิดขึ้น 64% เป็นขยะอินทรีย์ คิดเป็นปริมาณรวม 17.6 ล้านตันเทียบเท่ากับเครื่องบินโดยสารลำใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานี้ A380 จำนวน 63,000 ลำ หรือเอาไปอัดในสนามราชมังคลากีฬาสถานได้ 8 สนามครึ่ง โดยสรุปคนไทยทุกคนจะสร้างขยะอินทรีย์ที่บางส่วนเป็นขยะอาหารเฉลี่ยปีละ 254 กิโลกรัม เป็นอย่างน้อย มากกว่าชาวฝรั่งเศส 30% และมากกว่าชาวอเมริกัน 40% และขยะอาหารไม่ใช่แค่เศษอาหารเหลือทิ้งเท่านั้น บางส่วนยังเป็นแค่อาหารส่วนเกินคือทิ้งเพราะกินไม่ทัน ขายไม่ทันหรือคิดว่าหมดอายุ ทั้งที่จริงๆแล้วยังสามารถรับประทานได้



นางสาวธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ รักษาการหัวหน้าโครงการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า อาหารส่วนเกินคืออาหารที่ผลิตหรือซื้อมาเกินความต้องการ จนต้องทิ้งทั้งที่ยังไม่ได้กินหรือยังเก็บไว้กินได้ ถ้าเป็นผู้บริโภค เช่น ของสดที่กินไม่ทัน หรืออาหารแห้งอาหารกระป๋องที่เลยวัน Best Before แล้วทิ้งเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเลยวัน Expiry date ร้านค้าปลีก เช่น อาหารที่เหลือจำหน่ายซื้อมาสต็อกไว้เกินจำเป็น ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม เช่น อาหารบุฟเฟ่ต์ที่ยังกินได้ และแหล่งผลิตอาหารทางการเกษตร เช่น อาหารที่เกิดจากการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งที่ไม่ได้คุณภาพ เป็นต้น

ส่วนขยะอาหารคือเศษอาหาร เปลือกอาหาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋องที่ถึงวันหมดอายุแล้ว อาหารที่เอาไว้แต่งจานให้สวยงาม หรืออาหารที่เน่า เพราะจัดการไม่ดี เป็นต้น ข้อแตกต่างสำคัญก็คือบริโภคไม่ได้แล้วหากฝืนกินไปอาจมีปัญหาด้านความปลอดภัย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(UNFAO) ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ(UNEP) เคยเผยแพร่ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาขยะและอาหารส่วนเกินเรียงลำดับจากที่ควรทำมากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด 5 ข้อ ประกอบด้วย


1.ป้องกันการเกิดขยะอาหารจากห่วงโซ่อาหาร เช่น ภาคเอกชนพัฒนาระบบการสั่งสินค้าเพื่อลดการสั่งสินค้าเหลือ ภาครัฐจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะอาหารตามปริมาณ


2.จัดสรรอาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น บริจาคให้ผู้ยากไร้พนักงานนำมาขายราคาถูก จำหน่ายเป็นอาหารสัตว์


3.นำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ เช่น ทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร ผลิตก๊าซชีวภาพ


4.กำจัดเพื่อนำพลังงานมาใช้ใหม่ เผาเพื่อผลิตพลังงานความร้อนกำจัดทิ้ง และ


5.การกำจัด เผา ฝังกลบ


นางสาวธารทิพย์ กล่าวอีกว่า ทีดีอาร์ไอ เคยจัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสม กับประเทศไทย โดยมีข้อเสนอต่อภาครัฐในการกระตุ้นให้เกิดการจัดการปัญหาขยะอาหารหรืออาหารส่วนเกินจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ลดปริมาณขยะอาหารหรืออาหารส่วนเกิน โดยสร้างแรงจูงใจในทางธุรกิจว่าหากสามารถลดปริมาณอาหารที่ใช้แทน 10% ก็จะช่วยลดปัญหาได้เป็นหลักล้านบาท นอกจากนี้ ยังอาจใช้มาตรการ Tax Credit สำหรับค่าใช้จ่ายในการวางระบบบริหารจัดการขยะเพื่อลดปริมาณขยะอาหารส่งเสริมการนำอาหารส่วนเกินไปบริจาค ด้วยการออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริจาคและตัวกลาง เพื่อป้องกันการถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีที่ผู้รับบริจาคมีปัญหาสุขภาพจากการถนอมอาหารและขนส่งได้มาตรฐาน ทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำหน้าที่กระจายอาหารเพื่อบริจาคสามารถจดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลที่สามารถหักภาษีได้เพื่อจูงใจให้คนมาบริจาคมากขึ้น สร้างแพลตฟอร์มระหว่างผู้ต้องการบริจาคกับผู้ต้องการรับอาหารแบบเรียลไทม์ รณรงค์เรื่องขยะอาหารเช่นเดียวกับเหล้า บุหรี่หรือโครงการตาวิเศษ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการกิน ไม่ให้มีอาหารเหลือทิ้ง เป็นต้น


ส่งเสริมการนำขยะอาหารไปใช้ต่อ ผ่านการแยกขยะระหว่างขยะอินทรีย์กับขยะประเภทอื่นๆโดยอาจสลับวันหรือมีรอบพิเศษ ยกเลิกสัมปทานการจัดเก็บขยะเอกชนเข้ามาช่วยจัดเก็บก็ควรได้รับรองจากกรมควบคุมมลพิษ ปรับปรุงค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากปัจจุบันจัดเก็บในอัตราที่ต่ำเกินไป สร้างศูนย์แปรรูปอาหารในท้องถิ่นเพื่อให้เอกชนรายย่อยหรือครัวเรือนนำขยะอาหารแปรรูปไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ ยังมี ข้อเสนอต่อภาคเอกชนด้วย เช่น กำหนดให้การบริหารจัดการขยะอาหาร และอาหารส่วนเกินเป็นหนึ่งในวิธีลดต้นทุน สร้างรายได้ เพิ่มหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจ โดยอาจเริ่มจากสมาคมโรงแรมไทยและสมาคมผู้ค้าปลีกไทยจัดให้ความรู้ คำแนะนำกับผู้ประกอบการโรงแรมและร้านค้าปลีก และภาคธุรกิจที่มุ่งมั่นพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินอาจรวมตัวกันเป็นกลุ่มรักษ์อาหาร

Shares:
QR Code :
QR Code