ขยะติดเชื้อล้นโรงพยาบาล

/data/content/24773/cms/e_bcdehjrtu234.jpg          


         ขยะติดเชื้อล้นโรงพยาบาล กรมอนามัยเผยเกิดขึ้นวันละ 1.2 แสนกิโลกรัมต่อวัน ตกปีละ 43 ล้านกิโลกรัมต่อปี เหตุโรงพยาบาลขยายตัว รักษาผู้ป่วยมากขึ้น แต่การกำจัดได้เพียงวันละ 1 แสนกิโลกรัม ที่เหลือปนกับขยะทั่วไป ชู รพ.ละงู ต้นแบบคัดแยกขยะ มีระบบเผาขยะได้มาตรฐาน เตรียมดันโมเดลรับเผาขยะติดเชื้อจาก รพ.สต.ในเครือ ใช้กับ รพช.ทั่วประเทศ


          ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขยะติดเชื้อเกิดขึ้นได้จาก 3 แหล่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ดูแลคนไข้ โรงพยาบาลสัตว์ และห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ทั่วประเทศมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้น 43,000 ตันต่อปี หรือ 43 ล้านกิโลกรัมต่อปี เฉลี่ย 120 ตันต่อวัน หรือ 1.2 แสนกิโลกรัมต่อวัน นับเป็นปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเยอะมาก แต่ประสิทธิภาพในการทำลายจากเตาเผาขยะติดเชื้อขนาดใหญ่ตามเทศบาลและเอกชนรองรับได้เพียงวันละ 100 ตัน หรือ 1 แสนกิโลกรัมต่อวันเท่านั้น ที่เหลือปนเปื้อนไปกับขยะทั่วไป นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล


          “แนวโน้มของขยะติดเชื้อมีมากขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายตัวและมีการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้การจัดการขยะติดเชื้อยังประสบปัญหา ตั้งแต่แหล่งกำเนิด เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของระบบคัดแยกขยะติดเชื้อในสถานพยาบาล สภาพเตาเผาที่ชำรุด และไม่มีการตรวจวัดมาตรฐานอากาสเสียจากปล่องควันตามกฎหมาย อีกทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้สถานพยาบาลมีแนวโน้มในการส่งขยะติดเชื้อให้เอกชนกำจัดนอกสถานพยาบาลมากขึ้น ซึ่งขยะติดเชื้อที่กำจัดไม่ถูกวิธีจะแพร่กระจายเชื้อโรคและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เช่น โรคท้องร่วง เชื้ออหิวาตกโรค ไทฟอยด์ โรคบิด บาดทะยัก ไวรัสตับอักเสบ และโรคเอดส์” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


          ทพ.สุธา กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ โรงพยาบาลต้องพยายามลดการใช้ขยะลง เช่น ผ้าก๊อต จากเดิมใช้ 4 แผ่น อาจใช้เพียง 2 แผ่น ส่วนขวดแก้วยาปฏิชีวนะแทนที่จะเอาไปทิ้ง ก็ให้นำไปฆ่าเชื้อ อบไอน้ำ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ หรือหลอดและเข็มฉีดยาก็ทำลายตัวเหล็กแล้วนำพลาสติกที่เหลือไปขายเป็นขยะรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ กรมอนามัยจะเร่งผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเตาเผาขยะที่ได้มาตรฐานและเพิ่มเตาเผาขยะในโรงพยาบาลชุมชนเพื่อที่จะได้เป็นศูนย์ในการดูแลกำจัดขยะให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยรอบ เช่น รพ.ละงู จ.สตูล ที่มีการดำเนินงานในเรื่องนี้ นับเป็นโมเดลที่กรมอนามัยจะนำไปดำเนินการกับ รพช. ทั่วประเทศ


          ด้าน นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.รพ.ละงู กล่าวว่า ทุกวันนี้จำนวนขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลมีประมาณ 150 กิโลกรัมต่อวัน และจำนวนขยะติดเชื้อจาก รพ.สต. ในเครือข่าย รพ.ละงู จำนวน 11 แห่ง ประมาณ 160 กิโลกรัมต่อ/data/content/24773/cms/e_bcdhinpqtz24.jpgสัปดาห์ ซึ่งทางโรงพยาบาลมีการขนขยะติดเชื้อ ทุกวันๆ ละ 2 เวลา คือ ช่วงเช้า เวลา 07.30 น. และช่วงบ่าย เวลา 15.30 น.


          จากนั้นนำมาเผาด้วยความร้อนสูงของเตาเผาขยะติดเชื้อของโรงพยาบาล สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยการขนขยะติดเชื้อจาก รพ.สต. โรงพยาบาลจะมีรถขนขยะในระบบปิด ไม่ติดแอร์ไปรับขยะติดเชื้อจาก รพ.สต. ทุกวันพฤหัสบดี โดยบรรจุในถังสีแดง แล้วนำกลับมาพักไว้ที่โรงพักขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลเพื่อรอเผาในวันศุกร์ ซึ่งขยะที่รับมาจะมีการชั่งน้ำหนักปริมาณขยะ และติดป้ายชัดเจนว่ามาจากที่ไหน ส่วนรถขนขยะหลังจากขนแล้วต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้ง และพนักงานขับรถต้องอาบน้ำทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นภารกิจ


           นพ.ปวิตร กล่าวอีกว่า สำหรับการแยกขยะของโรงพยาบาลแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ ขยะติดเชื้อ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย โดยขยะอันตรายเริ่มมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ แบตเตอรี หลอดไฟ ถ่าน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลจัดการด้วยการบรรจุลงกล่องพลาสติก ก่อนนำไปใส่ในถังที่เก็บไว้ในบ่อปูนปิดสนิท ซึ่งฝังอยู่ในดิน ทำให้ไม่มีปัญหาสารอันตรายปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม แต่ใน 5-10 ปี อาจมีปัญหาพื้นที่ไม่พอเก็บ แต่ในอนาคตอันใกล้มีการประสานกับ อบจ.ซึ่งจะรับขยะส่วนนี้ไปกำจัดให้ในภายหลัง


 


 


              ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ


              ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code