ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี เพื่อเด็ก-เยาวชน
เตือนเด็กดูทีวีเกิน 5 ชม. ส่งผลพัฒนาการช้า
ใครๆ ก็มักจะพูดว่า “ดูละครแล้วย้อนดูตัว” ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะบทละครที่เขียนขึ้นมานั้น มักได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นจริงในชีวิตมนุษย์ เพียงแต่เติมสีสันให้สนุกสนาน เพิ่มเรื่องราวที่ดึงดูดคนดูมากขึ้น แต่หารู้ไม่ว่าการปรุงรสเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าว รุนแรง ลอกเลียนแบบพฤติกรรมตามอย่างที่สื่อนำเสนอ จนกลายมาเป็นอีกปัญหาหนึ่งในสังคมไปแล้ว
ด้วยเหตุนี้เองจึงได้เกิดการรวมตัวของครอบครัวอาสา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดตั้ง เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และเปิดศูนย์ประสานงานครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เพื่อเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเผยแพร่สื่อที่ไม่เหมาะสม และกระตุ้นให้เกิดสื่อที่ดี ผลักดันการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ
ทั้งนี้เครือข่ายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะเห็นว่า ครอบครัวเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญทั้งในส่วนของการเป็นกระบอกเสียงและแรงสนับสนุนในการตรวจสอบสื่อร้าย-ชื่นชมสื่อดี การให้ความรู้เรื่องความเท่าทันสื่อและการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของการได้รับสื่อที่ไม่เหมาะสม ทั้งยังสร้างกลุ่มครอบครัวอาสาฯให้เพิ่มมากขึ้นในการเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่ออย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมต่อไป
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันสื่อมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่สังคมและครอบครัวมีการพัฒนาช้า ส่งผลให้สภาพครอบครัวมีความเสี่ยงที่จะได้รับความอ่อนแอ ที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ และประเภทรายการเพื่อให้เกิดการเลือกชมที่เหมาะสม แต่พบว่ายังต้องมีการพัฒนาเพื่อทำให้เกิดรายการที่ดีขึ้นในสังคม ซึ่งเชื่อว่าการมีเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ จะช่วยให้เกิดรายการและละครน้ำดีที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเยาวชน เพราะหากทางเครือข่ายฯ มีการจัดเรตติ้ง หรือเสนอแนะกับรัฐบาลและหน่วยงาน เชื่อว่าจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเท่ากับช่วยกันขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี
“การเกิดเครือข่ายครอบครัว เป็นเรื่องที่ควรชื่นชมและน่าสนับสนุน และควรพัฒนาเครือข่ายให้ดีขึ้นด้วยการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ขยายเครือข่าย มีการจัดการความรู้ และช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง” อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงผลกระทบจากการบริโภคสื่อว่า สื่อมีผลต่อเด็กและครอบครัวเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเด็กไทยบริโภคสื่อประเภท โทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 5 ชม.ต่อวัน ซึ่งถือว่ามากเกินไป ตามหลักแล้วผู้ปกครองควรให้เด็กมีการบริโภคสื่อเพียงวันละ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น หากให้ดูมากกว่านี้จะส่งผลทำให้เด็กเสียสุขภาพทั้งทางสายตาและร่างกาย มีสมาธิสั้น และมีพัฒนาการช้า รวมถึงยังส่งผลให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวน้อยลงด้วย
“ผู้ปกครองควรจะส่งเสริมให้บุตรหลานทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันกับครอบครัว เพื่อลดการบริโภคสื่อ โดยใช้หลักการ 3 ต้อง 2 ไม่ ประกอบด้วย 3 ต้อง คือ ต้องกำหนดเวลาดูโทรทัศน์ ต้องกำหนดรายการโทรทัศน์ที่เด็กสามารถรับชมได้ และต้องพูดคุยกับบุตรหลานหลังชมรายการโทรทัศน์จบ ส่วน 2 ไม่ คือ ไม่มีสื่อร้ายในบ้าน และ ไม่จัดวางโทรทัศน์ไว้ในห้องนอนของเด็ก ซึ่งการเฝ้าระวังต้องทำอย่างเป็นระบบ พ่อแม่ต้องเลือกสื่อให้เหมาะสมกับวัยของลูก จะช่วยลดผลร้าย รายการที่เด็กไม่ควรดูก็ควรอยู่ในเวลาที่เด็กดูไม่ได้” นพ.ยงยุทธกล่าว
แล้วทางหัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อล่ะ เธอจะพูดถึงเรื่องนี้อย่างไรน๊า!!!
สำหรับการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯในครั้งนี้ ในฐานะหัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ กล่าวถึงที่มาของการรวมตัวเป็นครอบครัวอาสาว่า เครือข่ายครอบครัวเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ปกครองในหลากหลายสาขาอาชีพ ที่มีแนวคิดเหมือนกัน ซึ่งเกิดจากการได้พบเห็น ภาพยนตร์ที่มีฉากการตายแบบสยดสยอง การขายนิตยสารโป๊บนแผงหนังสือทั่วไป ละครที่มีแต่การตบตีแย่งผู้ชาย ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดสื่อที่ดี สื่อที่สร้างสรรค์ และสื่อที่มีคุณภาพต่อเด็ก เยาวชน ครอบครัว และสังคม
“จากการที่รวมตัวกันมาได้ระยะหนึ่งคิดว่าจำเป็นต้องมีศูนย์กลางสำหรับรับเรื่องต่างๆ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ให้ครอบครัวอาสามารวมตัวกันทำงาน และเป็นสถานที่ให้คนทั่วไปสามารถแจ้งเรื่องราวที่พบเห็นสื่อไม่เหมาะสมเข้ามาได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” นางอัญญาอรกล่าว
เด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติที่ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจดูแล โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องให้ความใกล้ชิดกับบุตรหลานให้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งควรชี้แนะข้อดีข้อเสียในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆของสื่อให้เด็กได้รับทราบ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาในสังคมนั้น มีความคิดที่ก้าวไกล และช่วยกันพัฒนาสังคมต่อไป
เรื่องโดย : วีรญาน์ จันทร์นวล team content www.thaihealth.or.th
update 20-01-52