ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรู้ทันโลกไซเบอร์

อึ้ง!!ผลสำรวจเยาวชนไม่ใช้เน็ตเรื่องการศึกษา เล่นแต่เกม

 

ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกรู้ทันโลกไซเบอร์          เยาวชนไทยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 6 ล้านคนใช้เฉลี่ยวันละ 3.8 ชั่วโมง และส่วนใหญ่ใช้เพื่อความบันเทิงและเวลาในการใช้งานถือว่ามากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีมีเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 2.4 ล้านคนเท่านั้น และเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมงกว่า!!!

 

          นอกจากนี้กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต อันดับ 1 อายุ 24-35 ปี 30% อันดับ 2 อายุระหว่าง 18-23 ปี เฉลี่ย 27% อันดับ 3 อายุระหว่าง 12-17 ปี เฉลี่ย 24% ขณะที่เด็กต่ำกว่า 12 ปี เฉลี่ยที่ 3%

 

          เท่ากับว่าภาพรวมของเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 12-23 ปี อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยที่ 60% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด

 

          ไม่เพียงเท่านี้คำที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้ค้นหาข้อมูล 30 อันดับแรก จะเป็นคำว่า เกม รองลงมาคือคำว่า ฟังเพลง หาเพื่อน ดูดวง รวมถึงคลิป หางาน ดูหนัง และจากข้อมูลของ truehits พบว่าพฤติกรรมการใช้เว็บไซต์ของเด็กและเยาวชน 10 อันดับแรกนิยมใช้บริการสื่อบันเทิงส่วนใหญ่ อาทิ sanook มียอดเข้าบริการวันละ 589,436 คน ตามด้วย kapook ยอด 400,326 คน และ mthai 298,627 คน

 

          โดยทั้ง 30 อันดับไม่พบการค้นหาเรื่องการศึกษาแต่อย่างใด!!!

 

          ขณะที่อัตราการใช้เว็บไซด์ด้านการศึกษาของเยาวชนไทย อันดับ 1 คือ เว็บไซด์วิชาการ อยู่ที่ 25,000 คนต่อวัน อันดับ 2 เว็บไทยกู๊ดวิว อยู่ที่ 18,000 คนต่อวัน เท่านั้น

 

          ข้อมูลสำคัญอีกจากสถาบันวิจัย CMR Market Research พบว่า เด็กไทยใช้บริการอินเทอร์เน็ตในร้านเพื่อการเล่นเกมมากถึง 86% ซึ่งมากกว่าเด็กรัสเซีย ฟิลิปปินส์ และยูเครน รองลงมาเป็นการใช้เพื่อการสนทนาออนไลน์ 49% ส่งอีเมล์ 44% ฟังเพลง 42% ดูหนัง 25% แต่ใช้งานเพื่อการศึกษาเพียง 14% ขณะที่เยาวชนของประเทศแคนาดากลับใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาถึง 94%

 

          เมื่อสถานการณ์ดูทีท่าว่าโลกไซเบอร์จะหลอกล่อให้อนาคตรของชาติเรามีอันต้องเดินหลุดออกนอกเส้นทางที่ควรจะเป็น

 

          ด้วยเหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงาน ICT จึงได้มุ่งเน้นในการสร้างเสริมสุขภาพในโลกออนไลน์ผ่านทาง 2 ยุทธศาสตร์ คือ ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี และสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนได้

 

          การขจัดสื่อร้ายก็เป็นการร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการปิดป้องกันเข้าถึงเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ดำเนินมาตรการคุ้มครองเด็กในโลกออนไลน์ การจัดระเบียบร้านอินเทอร์เน็ต/เกมส์คาเฟ่ การจัด Rating ความเสี่ยงของเว็บยอดนิยมของไทย

 

          ขยายสื่อดี ผ่านการบรรจุเนื้อหาการสอนต่างๆ ผ่านเว็บไซต์และเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ

 

          การสร้างภูมิคุ้มกัน ผ่านการพัฒนาหลักสูตรอินเทอร์เน็ตปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครองออนไลน์ ซึ่งจะได้ประกาศทดลองใช้ทั่วประเทศในภาคการศึกษาหน้า

 

          และอีกหนึ่งโครงการขยายสื่อดีที่ สสส.ผนึกกำลังกับกระทรวงศึกษาธิการคือ การประกวดสื่อการเรียนรู้ดิจิตอลสร้างสรรค์ ครั้งที่ 1 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงความสามารถในการผลิตสื่อสร้างสรรค์บนอินเทอร์เน็ต และเป็นการเพิ่มพื้นที่เชิงบวกในโลกออนไลน์ เนื่องจากโลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของเด็กและเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อความบันเทิง และสุ่มเสี่ยงต่อภัยทางอินเตอร์เน็ต

 

          ในการจัดประกวดสื่อการเรียนรู้ดิจิตอลสร้างสรรค์ถือเป็นการขยายให้เกิดสื่อออนไลน์ที่ดี โดยเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถใช้พื้นที่ใหม่ในโลกดิจิตแลเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

          ทั้งนี้ เกณฑ์การประกวดสื่อการเรียนรู้ดิจิตอลสร้างสรรค์ แบ่งเป็น 2 หัวข้อ คือ สื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบเว็บ และสื่อสารคดีประวัติศาสตร์และสถานที่ท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อชิงรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถ้วยเกียรติยศจากกระทรวงศึกษาธิการ ทุนการศึกษาและของรางวัล มูลค่ากว่า 100,000 บาท โดยสื่อดิจิตอลเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบเว็บเพจ แบ่งเป็นประเภทกลุ่มและประเภทบุคคล โดยโรงเรียนที่ส่งเนื้อหาเข้าประกวดจะต้องนำหลักสูตรอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสร้างสรรค์ไปใช้ในการสอนด้วย ซึ่งสามารถดาน์วโหลดได้ที่ www.inet.co.th หรือ www.thaigoodview.com สมัครก่อนวันที่ 15 พฤศจิกายน ผ่านทาง www.thaigoodview.com

 

          ส่วนรูปแบบสื่อสารคดีประวัติศาสตร์หรือสถานที่ท้องถิ่น สามารถรวมกลุ่มกันทำได้เป็นทีมๆ ละไม่เกิน 6 คนและสมาชิกในทีมไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน แต่ละทีมจะส่งผลงานกี่ชิ้นก็ได้ โดยส่งผลงานผ่านเว็บ www.fuse.in.th หมดเขตส่งผลงาน 31 ธันวาคม 2551 และประกาศผลงานและมอบรางวัล ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park

 

          เมื่อสื่อไซเบอร์มีอิทธิพลกับเยาวชนของชาติมากมายขนาดนี้ การนำประสิทธิภาพของมันเพื่อให้เป็นสื่อดี พื้นที่ที่ดีให้เขาได้มีโอกาสได้เข้าถึง ขณะเดียวกันก็กำจัดสื่อร้าย ก็คงเป็นทางออกหนึ่งที่จะกอบกู้อนาคตของชาติได้

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 28-10-51

Shares:
QR Code :
QR Code