ขจัดสื่อมอมเมาด้วย “พลัง 3 ดี” เพิ่มพื้นที่เมืองสื่อสร้างสรรค์

คงต้องยอมรับว่า ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก หรือแม้แต่สื่อใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ต หรือโลกออนไลน์ ล้วนมีทั้งประเภทที่สร้างสรรค์สังคม ให้ความรู้ ให้ความบันเทิง หรือ กระทั่งมอมเมารอยหยักในสมอง ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่ “ดี” หรือ “เลว” ก็ตาม การติดอาวุธทางปัญญาให้กับคนในสังคม ย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ

ในปัจจุบัน แม้แต่ผู้ใหญ่  ยังตกเป็นทาสของสื่อ หลงมัวเมาไปกับสื่อ ที่เห็นได้ชัดคือโซเชียลมีเดีย คือเมื่อมีข่าวหรือกระแสสังคมใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม ล้วนแต่เกิดปรากฏการณ์ไลค์ (like) และแชร์ (share) ตามมาทันที บางครั้งอาจตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ที่บางคราวออกจะไร้สติและใส่อารมณ์กันเกินไปด้วยซ้ำ   ทำให้นึกได้ว่า เด็กและเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะน้อยกว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะมีภูมิต้านทานต่อสื่อต่างๆ ที่ยั่วยุ หรือ มีวิจารณญาณในการใช้สื่อที่ดีและมีสติได้

หากยังจำกันได้กรณี เด็กชายท่าทางออกสาวที่แพร่ภาพลิปซิงก์เพลงเสียใจแต่ไม่แคร์ ลงในเว็บไซต์ยูทูวบ์ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้สื่อที่เหมือนเป็นดาบสองคม ที่นำมาใช้เพื่อเผยแพร่ให้ตนเองหรือผลงานของตนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนเกิดความอับอายและดับอนาคตได้เช่นเดียวกัน

น.ส.เข็มพร วิรุฬราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะผู้จัดทำนโยบายเมืองสื่อสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการใช้สื่อไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็ก เพราะสื่อมักเข้าถึงเด็กโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะผู้ใหญ่ใช้สื่อผิด  โดยเฉพาะที่ผิดหวังมากที่สุดคือ ผู้ใหญ่ ใช้สื่อเพื่อหวังประโยชน์ทางธุรกิจ หรือ ทำกำไร มากกว่าใช้เพื่อสนับสนุนพัฒนาเด็ก จึงไม่แปลกใจเลยที่ทำไมงานวิจัยทุกวันนี้เด็กถึงใช้ชีวิตอยู่กับสื่อมากกว่า 5-7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าพอๆ หรืออาจจะมากกว่าการเรียนในห้องเรียนเสียอีก

“การใช้สื่ออย่างไม่รับผิดชอบของผู้ใหญ่ ทำให้เด็กที่เดิมทีเป็นผู้รับสารเพียงอย่างเดียว เริ่มกลายเป็นผู้ส่งสารแล้ว หากเด็กไม่มีวิจารณญาณหรือรู้เท่าทันพอว่าการส่งสารแบบใดคือสิ่งที่ดีและถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตนเองและสังคม ก็จะเกิดปัญหาตามมาทั้งในเรื่องของความรุนแรง การสร้างอคติ ค่านิยมทางเพศ ฯลฯ”

 น.ส.เข็มพร กล่าวอีกว่า ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะทุกวันนี้คนส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์มีพลังน้อยเกินไปในสังคม ทำให้การใช้สื่อที่ดีและถูกต้องเกิดปัญหาขึ้น หนทางที่จะช่วยได้คือต้องเพิ่มพื้นที่ของสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งขณะนี้ตนก็กำลังเร่งเดินหน้าโครงการเมืองสื่อสร้างสรรค์อยู่ เพราะจากการทำงานเรื่องสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน พบว่า  กระบวนการใช้สื่อสร้างสรรค์ส่งเสริมพัฒนาการ และแก้ไขปัญหาต่างๆได้ ชุนชนต่างๆ ควรหันมาส่งเสริมให้ชุมชนมี 3 ดี คือ สื่อดี- พื้นที่ดี -ภูมิดี

 “สื่อดี คือมีการสื่อสารที่ดี โดยสื่อไม่ใช่เพียงแค่สื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่รวมไปถึงสื่อบุคคล กิจกรรมต่างๆ สื่อพื้นบ้าน ก็ล้วนเป็นสื่อทั้งหมด คือทำให้ตัวเองกลายเป็นสื่อที่ดี ส่วนพื้นที่ดีคือมีการสร้างสรรค์พื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรม และภูมิดี คือมีภูมิคุ้มกันป้องกันสื่อ ใช้ภูมิปัญญาหรือภูมิหลังของชุมชนในการพัฒนา ก็จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนได้ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษ สุขภาพอนามัยต่างๆ” ผู้จัดการ สสย. กล่าว

จากการทำงานเรื่องนี้มา 6 ปี น.ส.เข็มพร เล่าว่า ขณะนี้มีการกระจายเครือข่ายเมืองสื่อสร้างสรรค์ไปทั่วประเทศ แต่เป็นไปในลักษณะจุลภาค ทำให้เด็กเห็นศักยภาพของตัวเองในการเป็นสื่อที่ดี กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใหญ่ อย่าง จ.เพชรบุรี เด็กและเยาวชนสามารถทำให้ผู้ใหญ่ที่ทะเลาะกันหันมาร่วมกิจกรรมภายในชุมชนได้ โดยมีเด็กเป็นตัวเชื่อมประสาน นอกจากนี้ ยังมีการนำการแสดงพื้นบ้านมาเผยแพร่ โดยไปเรียนกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ก็จะทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเป็นการสื่อสารวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีให้คงอยู่ต่อไป จึงอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมและส่งเสริมพลัง 3 ดีนี้ให้มากขึ้น สื่อกระแสหลักที่มอมเมาอยู่ก็จะทำร้ายเด็กและเยาวชนได้ยากขึ้น เพราะเด็กมีความรู้เท่าทันสื่อ

เรียกได้ว่าสื่อบุคคลจะมีพลังมากกว่าสื่อมวลชนในระดับครอบครัวและชุมชน เพราะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันในครอบครัวและชุมชน จึงต้องมีการพัฒนาเด็กในเรื่องของสื่อ ด้วยการอาศัยเมืองสื่อสร้างสรรค์ ทำกระจายในแนวราบโดยไม่จำเป็นต้องรอร่าง พ.ร.บ.กองทุนสื่อสร้างสรรค์ จากรัฐบาล

ข้อมูลและความรู้ดีๆ เหล่านี้ จะถูกนำมาถ่ายทอดภายในงาน “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ในระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จะช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะ

อ่านบทความชิ้นนี้จบ รีบแต่งตัวออกไปเยี่ยมชมงานได้เลย คุณยังมีเวลาพอที่จะไม่ให้ลูกหลานของคุณถูกมอมเมาโดยสื่อไร้คุณภาพได้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code