ก๊าซชีวภาพมูลสัตว์ทางเลือกเพื่อสุขภาวะ
ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความยั่งยืนด้านพลังงาน
จากสถานการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบัน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อประชาชนในทุกระดับ โดยเฉพาะชาวบ้านในระดับรากหญ้า ที่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานเหล่านี้ประกอบอาชีพและดำรงชีวิต
โดยเฉพาะชาวบ้านใน ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายพลังงานที่แพงกว่าที่อื่น เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ห่างไกล ทำให้มีค่าขนส่งสูงขึ้น ทั้งก๊าซและน้ำมันจึงราคาแพงกว่าพื้นราบ
โครงการพลังงานก๊าซชีวภาพเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจึงเกิดขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานระดับครัวเรือน แก้ปัญหามลภาวะทางกลิ่น และช่วยลดมลภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซมีเทนจากมูลสัตว์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายจีระศักดิ์ ตรีเดช หัวหน้านักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการพัฒนาองค์กรชุมชนท้องถิ่นในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดจากเรื่องของมูลสัตว์ โดยชุมชนบ้านห้วยลาดมีการทำฟาร์มเลี้ยงหมู ส่งกลิ่นเหม็นไปรบกวนชาวบ้าน ประกอบกับหน้าที่ปัจจุบัน คือการส่งเสริมด้านเลี้ยง ปศุสัตว์ในพื้นที่ก็เลยคิดว่าควรให้เกษตรกรแปลงมูลสัตว์เป็นพลังงาน จึงเริ่มศึกษาเรื่องการนำมูลสัตว์ชนิดต่างๆ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะได้ก๊าซไว้ใช้แทนก๊าซหุงต้มแล้ว มูลสัตว์ที่ผ่านกระบวนการหมักยังนำไปทำปุ๋ยได้อีกด้วย
“พอมลภาวะหมดไป ความขัดแย้งก็หายไป โครงการนี้ทำให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของพลังงานลงได้ และผลพลอยได้คือปุ๋ยชีวภาพ ก็นำไปพื้นฟูระบบนิเวศและลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญถ้าชุมชนเข้าใจ มีจิตสำนึก เห็นประโยชน์ของบ่อก๊าซชีวภาพ ก็จะทำให้เป็นพลังงานทางเลือกของชุมชน” นายจีระศักด์กล่าว
ด้านนายสมยศ พรหมพล ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยลาด ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และเป็นเจ้าของฟาร์มหมูใกล้ๆ โรงเรียน กล่าวว่า การเลี้ยงหมูต้องล้างโรงเรือนทุกวัน น้ำทิ้งที่ไหลออกมานองไปทั่วและสกปรกมาก สร้างปัญหาของกลิ่นและแมลงวันรบกวนชาวบ้าน และที่บ้านเปิดร้านขายอาหารตามสั่งก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทางทีมงานจึงเสนอว่าน่าจะนำของเสียเหล่านั้นมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนด้วยการทำเป็นก๊าซชีวภาพ จึงไปศึกษาดูงานจากสถานที่ต่างๆ แล้วมาทดลองทำ ซึ่งผลที่ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เดือนละกว่าพันบาท กลิ่นเหม็นก็น้อยลง กากขี้หมูที่เหลือจากการหมักก็ใส่ต้นไม้ ซึ่งก๊าซที่ได้เพียงพอต่อการทำอาหารตลอดทั้งวัน จึงจะขยายต่อไปยังโรงเรียนเพื่อประกอบอาหารกลางวันให้เด็ก 224 คน ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าหุงต้มได้อีกมาก
นางอำไพ พิกุลทอง เจ้าของร้านพิกุลทอง ขายอาหารตามสั่ง เปิดเผยว่า ปกติจะใช้ก๊าซหุงต้มเดือนละ 3-4 ถัง เริ่มใช้ก๊าซขี้หมูมาได้ 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่ 06.00-18.00 น. ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เดือนละ 900-1,000 บาท
นางงามจิตต์ จันทรสาธิต ผอ.สำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวว่า การใช้พลังงานทดแทนมีความเกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน ถ้าชุมชนนำพลังงานทดแทนมาใช้ จะทำให้พึ่งพาตนเองได้แบบพอเพียง สสส.จึงเข้าไปสนับสนุน เพราะก๊าซชีวภาพจากขี้หมู นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังสร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อนบ้าน และความรู้ที่ทำมากับมือก็จะอยู่กับตัวเขา เป็นองค์ความรู้ที่จะไม่หายไปจากชุมชน และถ้าพัฒนาขยายผลลดต้นทุนให้ถูกลง ก็จะเกิดความยั่งยืนด้านพลังงานแทนในชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update 04-02-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์