ก๊าซชีวภาพจากการผลิตแผ่นยางพารา
บำบัดน้ำเสียเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 12 ล้านไร่กระจายอยู่ในทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีการนำน้ำยางดิบมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าหลายรูปแบบ โดยเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่จะนำ “น้ำยางดิบ” มาแปรรูปเป็น “ยางแผ่นผึ่งแห้ง” ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการแปรรูปชนิดอื่นๆ และสามารถผลิตได้เองในครอบครัว แต่การแปรรูปวิธีนี้กลับส่งผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมจากน้ำเสียและกลิ่นเหม็นที่เกิดจากกระบวนการผลิต อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของชาวสวนยางโดยไม่รู้ตัว
มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้จัดทำ “โครงการบำบัดน้ำเสียจากการผลิตแผ่นยางด้วยระบบบ่อหมักก๊าซชีวภาพ” ขึ้นเพื่อศึกษาและวิจัยหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อาจารย์วิกานดา ทองเนื้อแข็ง ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ทุกชุมชนที่ทำเรื่องของยางแผ่นผึ่งแห้งล้วนสร้างปัญหาคือกลิ่นเหม็นและน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตแผ่นยาง เพราะในกระบวนการผลิตมีการผสมน้ำยางกับ “กรดฟอร์มิค” หรือ “กรดซัลฟูริค” เพื่อให้น้ำยางแข็งตัว แล้วจึงนำยางที่ได้มาล้างก่อนเข้าเครื่องรีดเพื่อให้ได้ยางแผ่น ซึ่งน้ำเสียที่เกิดขึ้นนั้นจะมีส่วนประกอบของน้ำยาง เศษยาง และกรดที่เป็นส่วนผสม ทำให้น้ำเสียที่ได้มีสภาพที่เป็นกรดมีความสกปรกสูงและมีองค์ประกอบของไนโตรเจนสูง
“เนื่องจากการผลิตในระดับครัวเรือนทำให้เกษตรกรขาดความรู้ในการจัดการน้ำเสีย บางรายระบายน้ำเสียลงบนพื้นดินทำให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน หรือปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ บ้างก็ขุดบ่อเก็บพักน้ำเสียไว้ น้ำเสียเหล่านี้นานวันเข้าก็จะถูกดูดซึมลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินทำให้เกิดการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของชุมชน คณะผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นพลังงานทดแทน ด้วยการนำมาบำบัดในถังหมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องสถานที่กำจัดน้ำเสียและกลิ่นเหม็นที่ส่งผลต่อสุขภาพได้แล้ว น้ำที่ผ่านการบำบัดก็จะมีค่าความเป็น กรดลดลงจนสามารถนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ในสวนได้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่ามีธาตุอาหารต่างๆ ที่จำเป็นกับพืชสูงมาก กากหรือตะกอนจากการบำบัดก็ยังสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้อีก ที่สำคัญชาวบ้านก็จะได้ก๊าซชีวภาพมาใช้ในการประกอบอาหารทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม ลดรายจ่ายค่าก๊าซ ปัญหาเรื่องของยุงจากบ่อพักน้ำก็จะลดลงไป แหล่งน้ำใต้ดินหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็จะไม่มีการปนเบื้อนของกรดหรือสารเคมี”
โดยชาวสวนยางที่ผลิตแผ่นยาง 20 แผ่นต่อวัน จะมีน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตประมาณ 50 ลิตร หากนำมาผ่านระบบการบำบัดน้ำเสียด้วยการนำมาหมัก จะได้ก๊าซชีวภาพใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มได้ประมาณวันละ 4 ชั่วโมง โดยแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ช่วงเวลาคือเช้าและเย็นครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อรอให้ก๊าซเกิดการหมักตัวในระหว่างวัน โดยจะมีต้นทุนค่าอุปกรณ์ประมาณ 15,000-17,000 บาท ซึ่งหากใช้อุปกรณ์มือสองต้นทุนจะถูกลงไปอีกครึ่งหนึ่ง
ผศ.ดร.อุษา อ้นทอง นักวิจัยจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณฯ เล่าถึงการทำงานร่วมกับชุมชนว่า การทำสวนยางชาวบ้านมีรายได้คงที่อยู่แล้ว ดังนั้นการที่จะให้มาลงทุนในเรื่องของระบบบำบัดน้ำเสียหรือบ่อหมักก๊าซชีวภาพในทันทีทันใดนั้นคงไม่สามารถทำได้ เพราะกลิ่นเหม็นและน้ำเสียอยู่คู่กับชาวสวนยางมานานแล้ว เกษตรกรจึงมองไม่เห็นความสำคัญและปัญหาที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของตนเองและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
“โจทย์ของเราก็คือทำอย่างไรที่จะนำงานวิจัยมาให้ชุมชนยอมรับและนำไปใช้ได้จริง ไม่ยุ่งยาก เกิดประโยชน์ต่อชุมชนได้มากที่สุด เราจึงให้เกษตรกรเจ้าของพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มสร้างไปจนถึงขั้นตอนในการเดินระบบ ทำไปแก้ปัญหาไป โดยสิ่งสำคัญก็คือนักวิชาการและผู้นำชุมชนต้องชี้ให้เห็นว่า เมื่อทำแล้วไม่ใช่แค่ลดปัญหาของกลิ่นเหม็น และลดพื้นที่น้ำเสีย แต่ยังมีผลพลอยได้เป็นก๊าซชีวภาพที่ใช้หุงต้มในครัวเรือน ซึ่งเงินที่เขาลงทุนไปนั้นจะไปช่วยลดต้นทุนของการใช้ก๊าซหุงต้ม แต่เกษตรกรอาจจะลดความสะดวกสบายลงไปบ้าง เพราะลักษณะของการใช้ก๊าซไม่ได้จุดปุ๊บติดปั๊บเหมือนก๊าซจากถัง แต่เราก็ต้องอธิบายให้เขาเห็นความสะดวกสบายที่ลดลงไป แต่แลกมาด้วยปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาด้านสุขภาพที่ลดลงไปด้วยเช่นกัน”
นางเจื้อง อ้นทอง อายุ 64 ปี เกษตรกรชาวสวนยาง จากบ้านหัวคู ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เล่าถึงก๊าซชีวภาพที่ได้จากบ่อหมักน้ำเสียว่า ครั้งแรกที่มีการลงมือก่อสร้างบ่อบำบัดก็กลัวว่าจะถังระเบิด แต่เมื่อได้ทดลองทำและทดลองใช้แล้วก็รู้สึกว่าไม่น่ากลัว
“ตั้งแต่ใช้ก๊าซชีวภาพมาเมื่อเดือนกันยายนปี 2552 จนปัจจุบันยังไม่ได้เปลี่ยนถังก๊าซหุงต้มเลย ซึ่งปกติจะเปลี่ยนถังทุก 2-3 เดือน ประหยัดค่าก๊าซไปได้มาก ที่สำคัญยังลดกลิ่นเหม็นรบกวนได้ ตอนนี้ก็มีชาวสวนคนอื่นๆ สนใจมาดูและอยากจะนำไปใช้ในกันในชุมชนมากขึ้น”
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี คณะกรรมการบริหารแผน สำนักสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สสส. กล่าวถึงการสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนว่า จะเน้นไปที่การค้นหาพลังงานที่ได้ในท้องถิ่นเป็นหลักไม่ว่าจะจากมูลสัตว์หรือพืชต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาเป็นพลังงาน ซึ่งการพัฒนาพลังงานทางเลือกนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้วยังทำให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตในวิถีพอเพียงได้
“แนวทางของ สสส.ก็คือพยายามที่จะให้นักวิชาการจับมือกับเครือข่ายภาคีชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมกันพัฒนาพลังงานทางเลือกที่ชุมชนสามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงหรือสามารถที่จะดูแลได้เอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในชุมชน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดปริมาณน้ำเสีย ชุมชนได้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มสุขภาวะให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้ดีขึ้น และถ้าสามารถนำของเสียมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดก็จะยิ่งเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและสุขภาพของประชาชน”
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update: 12-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร