ก้าวสู่เมืองแห่ง ‘สุขภาวะ’
เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว องค์กรต่างๆ ร่วมกันจัด งานเสวนาเรื่อง "วิกฤตรถโดยสารสาธารณะกรุงเทพ ในสังคมผู้สูงอายุ" ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนเพื่อรองรับผู้สูงอายุ
ปัจจุบันโครงสร้างประชากรไทย มีกลุ่มผู้สูงอายุเป็นจำนวน 14% และตัวเลขดังกล่าวนี้เองจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการวิเคราะห์เชิงประชากรศาสตร์ ที่มีการคาดการณ์กันว่า ในอีกไม่เกิน 8 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ในฐานะขององค์กรที่ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมไปสู่มิติที่ดี ยิ่งขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านของระบบการดูแล สุขภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ ก่อนช่วงเวลาแห่งสังคมผู้สูงอายุจะมาถึง โดย สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม และสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม ร่วมกับ กลุ่ม Gen-V Media และกลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา เครือข่าย รถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนขึ้นได้ทุกคัน และภาคี องค์กรต่างๆ ร่วมกันจัด งานเสวนาเรื่อง "วิกฤตรถโดยสารสาธารณะกรุงเทพ ในสังคมผู้สูงอายุ" ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะเป็นระบบสาธารณะลำดับต้นๆ ที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงกลุ่มประชากรในบ้านเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้เริ่มพูดถึงโครงการ "อารยสถาปัตย์" การปรับพื้นที่สาธารณะให้เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัย ตามความเหมาะสมของโครงสร้างประชากร ระบบขนส่งมวลชนเองก็เป็นหนึ่งในส่วนที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ใช้บริการขนส่งมวลชนในการเดินทางไปทำกิจธุระต่างๆ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่า การที่ผู้สูงอายุขึ้นรถโดยสาร หรือขึ้นลงรถโดยสาร แม้จะไม่ได้นั่งรถเข็นแต่เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุที่แขนขา หรือเข่าอ่อนแรง เวลาเดิน ขึ้นรถ หรือลงรถ อาจไม่รวดเร็วหรือมั่นคงเหมือนคนหนุ่มสาว การที่ไม่ได้มีการระมัดระวังหรือหยุดรถที่นิ่งสนิท รวมถึงลักษณะรถที่มีความชัน อาจทำให้ผู้สูงอายุไม่อาจขึ้นรถได้ทัน หรือเกิดอุบัติเหตุตอนลงจากรถได้ ทางด้าน ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การขนส่งสาธารณะไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคน ฉะนั้นการจัดการระบบขนส่งสาธารณะที่ดี จึงเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไปในตัว เพราะเมื่อมีทางเท้าดี รถเมล์ที่สะดวก ประชาชนก็จะออกมาใช้ทางเดินริมทางเท้ามากขึ้น ผู้ค้าขายรวมถึง ร้านค้าย่านทางเท้าก็จะมีรายได้ที่ดีมากขึ้น เกิดการพัฒนาอย่าง ต่อเนื่อง
เริ่มต้นจากรถเมล์ ซึ่งควรปรับการขึ้นลงให้เป็นระดับชานต่ำ โดยเป็นรถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีบันได เพราะเมื่อจอดเทียบกับฟุตบาทก็จะมีความกว้างและสูงพอดีสำหรับผู้โดยสาร ทุกคนก้าวขา ขึ้นรถเมล์ได้โดยง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องขั้นบันได นอกจากนี้ยัง เอื้อประโยชน์ต่อผู้พิการทุกประเภท ผู้พิการทางสายตาก็ไม่ต้องกังวลกับการสะดุดขั้นบันได และยังสามารถขึ้นได้เร็วกว่าเดิม ผู้พิการ ที่ต้องใช้ไม้เท้าหรือรถวีลแชร์สามารถดึงเหล็กที่คล้ายกับทางเชื่อมลงมาเข็นรถขึ้นรถเมล์ได้อย่างสะดวก และสามารถทำได้เอง หรือให้ผู้อื่นช่วยเพียงเล็กน้อย รถเมล์ชานต่ำเป็นอีกแนวทาง ที่จะพัฒนาระบบโดยสารสาธารณะให้มีคุณภาพ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อบ้านเมือง และทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่าง เท่าเทียม นี่คือก้าวแรกของการเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเมืองของเราให้สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งคุณภาพ และเป็นสังคมแห่งสุขภาวะ ผู้คนเดินทาง และใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ในอนาคตนั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ