ก้าวย่างบนหนทางอริยะด้วยบุญภาคี
สิ่งดีๆที่ควรทำ
21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า เสถียรธรรมสถานไม่เคยว่างเว้นจากการทำงานอยู่บนหนทางอริยะ เพื่อถวายความกตัญญูต่อพระองค์ท่าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแรงบันดาลใจจากการทรงงานอย่างหนักของพระองค์ท่านตลอดมา สัปดาห์ที่ผ่านมา “ค่ายอริยะสร้างได้” เกิดขึ้นที่เสถียรธรรมสถานติดต่อกันถึง 2 ค่าย
คือ ค่ายอริยะสร้างได้ “บ่มเพาะ แตกหน่อ ต่อยอด” ของครูระดับผู้อำนวยการและผู้บริหาร จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากทั่วประเทศไทย 200 ชีวิต และ ค่ายครอบครัวอริยะสร้างได้ “จังหวะธรรมชาติ จังหวะชีวิต” ของพ่อแม่ลูกครอบครัวแห่งสติ 50 ครอบครัว 150 ชีวิต จากการเรียนรู้เฝ้าสังเกตตนแบบมองนอก ดูในจนประจักษ์แจ้งแก่ใจผู้เข้าร่วมค่าย พบว่าการฝึกฝนร่วมกันเพื่อมีพระธรรมอารักขาจิต ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรม แต่ควรเป็นกิจวัตร สู่กระแสชีวิตและวัฒนธรรม จนกระทั่งอริยธรรมเกิดได้จริง และนั่นคือการศึกษาที่ถูกต้องโดยธรรม
ในวิถีชีวิตแห่งธรรม ท่ามกลางธรรมชาติของป่าปลูกมือที่ปลูกหัวใจผู้คนมายาวนานกว่า 20 ปี เราอยู่อย่างเป็นสุขพ้นทุกข์ร่วมกันด้วยการเคารพหัวใจของกันและกันและเคารพธรรมชาติ ด้วยความเข้าใจในธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายของเรา ที่มีจังหวะชีวิต คือลมหายใจที่สอดคล้องไปกับจังหวะลมหายใจของธรรมชาติที่มีดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นกัน เด็กและผู้ใหญ่สร้างสรรค์เครื่องดนตรีจากธรรมชาติและบรรเลงดนตรีแห่งสติ
ประกอบกับการสนทนาจากผู้ใหญ่ใจดีหลายท่าน อาทิ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าฝ่ายกุมารเวชศาสตร์สังคมและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ผศ.ดร.ฉันทนา ภาคบงกช สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และประธานชมรมภาษาของแผ่นดิน ในหัวข้อ “รู้จริง รู้ใจ” เพื่อให้พ่อแม่ลูกได้ฟังหัวใจกันและกัน พ่อแม่ และ ครู ควรเฝ้าดูเด็กอย่างที่มีเด็กเป็นครู ฟังหัวใจของเขา โดยไม่ด่วนตัดสิน
ดังตัวอย่างของเด็กประถมคนหนึ่งได้เปิดเผยหัวใจกับเราว่า เขามีความสุขที่ได้เฝ้าดูธรรมชาติในวิถีชีวิตการเดินเล่นในป่าปลูกมือของชุมชน เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอย่างเงียบๆ ด้วยหัวใจยิ่งใหญ่ และขอให้ผู้ใหญ่เข้าใจเขาและสื่อสารกับเขาอย่างตรงไปตรงมาด้วยความซื่อสัตย์
วันเวลาล่วงไปจาก วันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี สังคมกำลังต้องการคำตอบว่า ผู้คนมีพระธรรมอารักขาจิต คุ้มครองจิตให้ปลอดภัยหรือไม่ เพราะเมื่อนั้นสังคมโดยรวมจะปลอดภัยอยู่เย็นเป็นสุข หน้าที่ในการมอบหนทางอริยะสู่คนรุ่นถัดจากเรา เฉกเช่นเราเคยได้รับจากคนรุ่นก่อนจึงไม่ได้เป็นทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นหนทางเดียวเท่านั้น หนทางอื่นไม่มี
คำว่า “ธรรมสวัสดี” ที่เราใช้สื่อสารกันด้วยภาษากาย ภาษาใจ สู่ภาษาธรรม เป็นกิจกรรมที่ทำเป็นกิจวัตร และกลายเป็นกระแสชีวิต ที่เติบโตสู่วัฒนธรรมและอริยธรรม คำนี้แปลว่า ขอให้ปลอดภัยโดยธรรม may the dhamma protect you…
ขอให้เรามาร่วมกันมอบหนทางอริยะให้แก่คนรุ่นถัดไป ด้วยการสร้างการศึกษาที่พาเด็กรุ่นถัดไปให้ปลอดภัยด้วยธรรมเพื่อเห็นทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์ เพื่อเขาจะได้เป็นอนุสาวรีย์มีชีวิตของโลกต่อไป…และนั่นคือบุญภาคีอันยิ่งใหญ่ร่วมกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update: 21-10-09
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร