ก้าวผ่านภัยแล้ง…”วันน้ำของโลก”
“น้ำ” เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก ในบ้านเราเมืองเรา “น้ำ” อาจจะไม่ใช่สิ่งที่หายากนัก แม้ว่าจะอยู่ในฤดูแล้งไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้ แต่ก็ยังพอมีน้ำจัดสรรเพื่อนำมาใช้อุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันทำให้ผ่านฤดูกาลไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ในอีกหลายๆ แห่งบนโลก “น้ำ” เป็นทรัพยากรที่มีค่าดุจทองเลยทีเดียว
จากการที่น้ำจืดของโลกขาดแคลนมากขึ้น สมัชชาสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำของโลก” หรือ “World Day for Water” โดยเริ่มต้นในปี 2536 เป็นปีแรก และชักชวนให้ประเทศต่างรับเป็นวันสิ่งแวดล้อมของชาติ เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ช่วยกันดูแล บำรุงรักษา การพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต
วันนี้เราจึงนำความรู้ดีๆและคำแนะนำในการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างไรให้คงอยู่ โดย พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาฝากกัน
พลาย บอกว่า สำหรับปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว โดยปริมาณน้ำจืดภายในประเทศไทยที่ถือว่ามีปริมาณน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังคงมีเพียงพอสำหรับประชากรและเมื่อน้ำมีจำกัดประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โลกร้อนขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน และในปีนี้ยังจัดได้ว่าอยู่ในวิกฤติภัยแล้ง ฝนตกน้อยลงบวกกับความต้องการน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้นประชาชนใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากนี้คุณภาพน้ำมีสภาพเสื่อมโทรมมากขึ้นทุกวัน เกิดจากการที่มีลักลอบปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำส่งผลโดยตรงต่อปริมาณน้ำทำให้ยากที่จะบริหารจัดการ ทำให้ประชาชนเกือบทั้งประเทศต้องขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจทุน เกิดสภาวะไม่มั่นคง เพราะภาคอุตสาหกรรมเองขาดการให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมเพียงพอ พื้นที่อุตสาหกรรมทั่วประเทศจึงต้องอยู่ในภาวะคุณภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ชุมชนได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะการหาอาหารหรือใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ เป็นสาเหตุสำคัญให้ปัจจุบันหลายพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรต้องออกมาต่อต้านการรุกเข้ามาของอุตสาหกรรม เนื่องจากความสุ่มเสี่ยงที่ทรัพยากรธรรมชาติ และไม่เพียงที่ความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่นั้นจะถูกทำลายลงไปและส่งผลโดยตรงต่อชุมชนอย่างเดียว แต่ยังจะส่งผลต่อสังคมโดยรวมถ้าแหล่งอาหารนั้นเป็นทรัพยากรของทุกคนที่ได้รับประโยชน์
หากถามว่าเราจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างไรนั้น ?
ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะนำว่า เราสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเด็นใหญ่ๆ คือ “ด้านคุณภาพ” และ “ด้านปริมาณ” ซึ่งลำดับแรกเราต้องช่วยกันจัดการต้นกำเนิดของมลพิษก่อน เนื่องจากปัจจุบันปัญหาหลักที่เกิดขึ้นนั้นคือ การขาดแคลนน้ำสะอาด โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นต้นเหตุหลักของมลพิษจะต้องวางระบบจัดการน้ำอย่างจริงจังในการป้องกันมลพิษ นอกจากนี้ในภาคประชนชนเองตามบ้านเรือนต่างๆก็จะต้องมีระบบการจัดการน้ำเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถทำง่ายๆเช่น การใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ ไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นพิษต่อแหล่งน้ำ เป็นต้น ในส่วนด้านปริมาณนั้น คือการหาวิธีที่จะกักเก็บน้ำให้มีไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี อย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ่อเก็บน้ำ การทำฝาย และวิธีที่มีอีกมากมาย เพียงแค่ลงมือทำแค่ก็สามารถรักษาทรัพยากรน้ำได้อีกทางหนึ่งแล้ว
เนื่องในวันน้ำโลกปีนี้ หากเราไม่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อยากเพียงพอและเราไม่สามารถรักษาคุณภาพน้ำให้ดีเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคให้ได้แล้วนั้น สังคมมนุษย์เราก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ การได้เห็นแหล่งน้ำสะอาดอยู่ในทุกๆ ที่และเห็นความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยอาหาร และสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอย่างเต็มที่ จะเกิดขึ้นได้ถ้าทุกคนมีความหวังและช่วยกันแก้ไขปรับปรุง สิ่งดังกล่าวก็สามารถจะบรรลุผลเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th