ก้าวที่กล้าของ กทม.กับการสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนให้แรงงานนอกระบบ
กรุงเทพมหานคร กำลังเป็นที่แรกในประเทศที่จะมีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ กทม.
เมืองหลวงแห่งนี้ มีกลุ่มคนทำงานที่ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วย พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2540 หรือที่เรียกว่า “แรงงานนอกระบบ” ถึง 1,300,000 คน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ กลุ่มคนรับจ้างที่ไม่มีรายได้ประจำประมาณ 25% หรือ 328,640 คน และกลุ่มคนทำงานอาชีพอิสระไม่มีนายจ้างอีก 75% หรือ 971,360 คน ลักษณะการประกอบอาชีพทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว เช่น การรับงานไปทำที่บ้าน ผู้รับจ้างทำของ ผู้รับจ้างทำการเกษตร/ประมง ทำงานบ้าน แม่ค้าหาบเร่แผงลอย คนขับรถรับจาง แท็กซี่ เป็นต้น
คนกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 14,000 บาท แต่ในภาวะการเมืองทำพิษเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลให้รายได้ของแรงงานนอกระบบลดลงถึง 84% โดยส่วนใหญ่รายได้ครัวเรือนลดลงประมาณเดือนละ 3,000 – 5,000 บาท มีสาเหตุจากยอดขายสินค้าหรือสิ่งของลดลง 60% จำนวนงานที่เคยทำลดลง 31% หรือต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ 3%
ปัญหาหลักของแรงงานนอกระบบมีอยู่ 2 ส่วนคือ 17% เป็นปัญหาจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนน้อย ไม่มีงานอย่างต่อเนื่อง ทำงานหนัก ไม่ได้รับสวัสดิการ ชั่วโมงการทำงานมากกว่าปกติ ไม่มีวันหยุดวันลา และที่เหลือ 83% คือ ปัญหาจากความไม่ปลอดภัยในการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เหล่านี้มีผลกระทบต่อการมีสุขภาวะที่ยั่งยืนของแรงงานนอกระบบ
ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบก็ไม่ได้ต่อจากปัญหาอื่นๆ ที่วนเวียนอยู่ในวัฏจักรเดิมๆ มาโดยตลอด มีเพียงความจริงจังของภาครัฐผสมผสานกับการรับฟังข้อเสนอของเจ้าของเรื่องที่ประสบชะตากรรมโดยตรงเท่านั้นที่จะนำไปสู่การเอาชนะปัญหาที่สมบูรณ์แบบ
มหกรรมสมัชชาแรงงานนอกระบบ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน เพื่อรับฟังความเห็นของกลุ่มแรงงานนอกระบบ พร้อมกับเปิดรับสมัครงานประเภทงานบริการและภาคอุตสาหกรรม จำนวน 6,000 ตำแหน่งถือเป็นยุทธศาสตร์แรกของ กทม. ในการค่อยๆ ขยับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น
ขณะที่ข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วย เรื่องหลักๆ เช่น จัดสรรงานของคนกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ประมาณ 10 ประเภท เช่น การผลิตเสื้อผ้านักเรียน ชุดพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพฯ ทำความสะอาดสำนักงาน อาคารสถานที่ในพื้นที่/เขต ให้กับกลุ่มอาชีพในชุมชนได้มีรายได้เพิ่ม ลดปัญหาการว่างงาน และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาชีพและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในชุมชน สนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนโดยการต่อยอดจากกลุ่มออมทรัพย์ที่ได้ริเริ่มโดยชุมชน และมีการบริหารจัดการที่ดีในรูปแบบ “กองทุนอาชีพ” เพื่อส่งเสริมคนทำงานชุมชนได้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการสร้างอาชีพและรายได้แบบพึ่งตนเองในระยะยาว
รวมถึงการจัดทำทะเบียนระบบฐานข้อมูลแรงงานนอกระบบของ กทม. ในแต่ละพื้นที่/เขต การจัดตั้งกองทุนสุขภาพท้องถิ่นเพื่อให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมป้องกันที่สอดคล้องกับปัญหา สถานการณ์และความต้องการของพื้นที่ โดยการพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดบริการอาชีวอนามัยทั้งเชิงรุกและเชิงรับในหน่วยบริการสาธารณสุขระดับพื้นที่ กำหนดให้มีฝ่ายหรือองค์กรรับผิดชอบที่ชัดเจนในระดับเขต เพื่อเป็นกลไกการส่งเสริม พัฒนาสนับสนุนและประสานการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายกลุ่มอาชีพในชุมชน/พื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่/เขต
นี่เป็นข้อเสนอระดับท้องถิ่นที่ถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นการส่งไม้ต่อให้จังหวัดอื่นๆ ปรับทิศทางให้มุ่งไปสู่เส้นชัยเหมือนกัน
ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข เดือนมิถุนายน 2552
update 11-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์