ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


แฟ้มภาพ


ท่ามกลางการต่อสู้อันยาวนาน วันนี้ดูจะมีเรื่องน่าชื่นใจ เมื่อสถานการณ์การบริโภคยาสูบของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดย ข้อมูลจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจากเดิมที่ คนไทยสูบบุหรี่ร้อยละ 30 ตอนนี้ลดลงเหลือ เพียงร้อยละ19.1 สะท้อนได้ว่าประเทศไทย เป็นประเทศต้นแบบที่ดีในการดำเนินงานควบคุมยาสูบในหลายๆ ด้าน


แต่ปัญหาเรื่องของบุหรี่และยาสูบนั้นนับเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมา ช้านานกว่าที่คิด แต่ละปี "บุหรี่" ยังคง คร่าชีวิตคนไทยเฉลี่ยปีละ 50,000 คน และทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเม็ดเงินจากการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ ถึงปีละ 75,000 ล้านบาท


แต่นอกจากนี้ ภายในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 17 เรื่อง บุหรี่ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือดสมองโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังสะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงโรคที่ คนไทยคุ้นเคยคือ มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง อีกข้อมูลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ คือ บุหรี่ เป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย โดยข้อมูลระบุว่า ปี พ.ศ.2559 ประเทศไทย มีอัตราการเสียชีวิตด้วย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็น 32.3 คนต่อแสนประชากร และโรคหลอดเลือดในสมองเป็น 48.7 คนต่อแสนประชากร แน่นอนว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง คือ "ควันบุหรี่"


แนวร่วมเฮหลังแนวโน้มนักสูบไทยลด


ประเดิมด้วยรายงานผลการสำรวจการบริโภคยาสูบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อพิจารณาแนวโน้มการบริโภคยาสูบของประชากรไทยในรอบกว่า 25 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534 – 2560) พบว่า มีแนวโน้มลดลง อย่างต่อเนื่อง จากปี 2534 มีจำนวนผู้ที่บริโภคยาสูบ 12.26 ล้านคน (ร้อยละ 32) ลดลงเป็น 10.7 ล้านคน (ร้อยละ 19.1) ในปี 2560 ดังนั้นเป้าหมายสำคัญในการทำงานควบคุมยาสูบ จึงมุ่งเน้นการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี และทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เดิมเลิกสูบ


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความสำเร็จดังกล่าว เกิดจากมีภาคี ทุกหน่วยงานเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้การสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงเกือบร้อยละ 20 ในฐานะแกนกลางขับเคลื่อน ภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจที่หลายฝ่ายร่วมกันควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นการช่วยเหลือกันระยะยาวอย่างต่อเนื่อง หากสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยได้จำนวนมากและช่วยชีวิตคนไทยได้มหาศาล


"ถ้าเราควบคุมการสูบบุหรี่ได้ เราก็จะ ลดการเสียชีวิตของคนไทยไปได้จำนวนมาก โดยมาตรการในการควบคุมมีตั้งแต่ทำยังไง ให้คนที่ไม่สูบบุหรี่รู้ถึงพิษภัยและไม่สูบบุหรี่ ซึ่งความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีมาตรการทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมาย ค่านิยม และทัศนคติ เข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้เยาวชนรุ่นใหม่ถือเป็นกำลัง ขับเคลื่อนสำคัญที่จะผลักดันการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความต่อเนื่อง"


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


อีกหนึ่งองค์กรที่ผลักดันต่อเนื่อง ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงการผลักดันและสนับสนุนเครือข่ายที่ทำงานควบคุมยาสูบ ว่า การควบคุม ลด ละ เลิก บุหรี่ เป็นภารกิจสำคัญ ของ สสส. ซึ่งมีการสนับสนุน ผู้สนใจ ผู้ทำงานหลัก และทุกภาคส่วนในการควบคุมยาสูบในด้านต่างๆ ซึ่งสถิติ ดังกล่าวได้แสดงถึงชัยชนะขั้นต้น แต่ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ยังคงตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยจะลดลงเหลือ ร้อยละ 16.7 ภายในปี 2562


 "หัวใจสำคัญอีกอย่าง คือ ควันบุหรี่มือสอง ซึ่งผู้ที่รับผลกระทบโดยไม่ได้เป็นผู้สูบเอง มีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ อย่างตลาดสด ร้านอาหาร และสถานีขนส่ง ซึ่งต้องช่วยกันรณรงค์และ ขับเคลื่อนให้เห็นถึงโทษภัยของการสูบบุหรี่ ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นส่วนหนึ่งจากการที่สูบบุหรี่ ซึ่งถ้าทุกภาคส่วนช่วยรณรงค์และกระจายความรู้ให้กว้างขวางขึ้น คงจะช่วยผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม" ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว


บุหรี่ 4 ภัยคุกคามต่อการพัฒนา


ด้านกรมควบคุมโรค ที่มีบทบาท ในการควบคุมการบริโภค พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรคกล่าวว่ากรมควบคุมโรค มีเป้าหมาย ในการทำงาน จากการประมาณการจำนวน ผู้สูบบุหรี่จำนวน ร้อยละ 30 เพื่อให้จำนวน


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


ผู้สูบลดน้อยลง ไม่เกินร้อยละ 15 ในปี 2568 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ 4 มาตรการ คือ เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการควบคุมยาสูบ สร้างความตระหนักเรื่องพิษภัยและรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ ช่วยผู้เสพให้เลิกยาสูบ และสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ เพื่อมุ่งสู่สังคมไทยที่ปลอดบุหรี่นั่นเอง


ชวนคนทำงานเลิกบุหรี่


อีกหนึ่งพื้นที่สำคัญ หลังพบสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของคนทำงานในสถานประกอบการที่เป็นห่วง และคนในสถานประกอบการ ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุ 15-59 ปี ซึ่งอยู่ในกลุ่มอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ในเวทีเสวนาหัวข้อ เลิกบุหรี่ ลด NCDs ในสถานประกอบการจึงเปิดประเด็นด้วย ดร.สมพร เนติรัฐกรนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดี วิถีชีวิตไทย ให้ข้อมูลว่า สถิติของผู้ป่วยโรค NCDs ทำให้รู้ว่าวัยทำงาน กำลังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


โดยเฉพาะเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมอง อยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งมีที่มาจากอาหารการกินและสภาพแวดล้อมต่างๆ อีกทั้งในเรื่องของ การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ที่ดูเหมือนว่า ไม่ได้ลดน้อยลง


"ในภาพรวมการสูบบุหรี่ของคนใน วัยทำงานพบว่ามีร้อยละ24 จากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดเป็นเรื่องของพฤติกรรม มาตรการในการแก้ปัญหา คือ การสร้างความร่วมมือร่วมใจระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างในการปรับปรุงและพัฒนาสุขภาพในที่ทำงาน สำหรับที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการ 'สถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข'ซึ่งขณะนี้พยายามพัฒนากลไกและ บูรณาการในสถานประกอบการ ให้ผู้นำ หรือเจ้าของสถานประกอบการ มาร่วมกัน ส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานในโรงงาน"


สถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการที่เล็งเห็นถึงสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับคนในวัยทำงาน ภายใต้ความร่วมมือ ของกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต ตั้งแต่ปี 2555 โดยการดำเนินการดังกล่าวมีการสร้างทีมส่งเสริมสุขภาพและร่วมกับหลายๆ ภาคส่วน ออกแบบหลักสูตรให้เป็นมืออาชีพ และพัฒนาชุดข้อมูล จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ นอกจากนี้กระทรวงกำลังขับเคลื่อน ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน เน้นเรื่องการ ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อประเมินความเสี่ยง กาย ใจ พฤติกรรม และให้คำปรึกษา คัดกรองความเสี่ยงโรคต่างๆ


เปิดใจองค์กรปลอดควันตัวอย่าง


บริษัท คูซุ่นเฮงหลีเทกซ์ไทล์ จำกัดหนึ่งในองค์กรต้นแบบ ที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และรูปแบบการดำเนินโครงการดังกล่าว บุญสืบ ชมรัตน์ ผู้จัดการโรงงาน เปิดใจในฐานะต้นแบบคนสำคัญขององค์กร ที่เคยสูบบุหรี่แล้วสามารถเลิกได้ว่าเป็นเวลากว่า 20 ปีที่สูญเสียเงินมหาศาลไปกับบุหรี่และเริ่มมี โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ดังนั้น พอเลิกได้จึงอยากจะแบ่งปันกับลูกน้องให้เลิกบุหรี่ เริ่มจากการชักชวน และเอาเงินส่วนตัวให้เป็นรางวัลหากมีใครเลิกบุหรี่ได้และก็ทำจนสำเร็จ จนกระทั่งย้ายมาบริษัทนี้และอยากพัฒนาโรงงานและชุมชนที่บ้าน การส่งเสริมสุขภาพก็เช่นกัน เห็นคนใกล้ตัวสูบบุหรี่ ลูกน้องเริ่มสูบบุหรี่ ก็ชักชวนให้เลิกสูบ ซึ่งมีโดนต่อต้านจากคนอื่นๆ แต่ก็ ยังไม่ลดละ


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


"สำหรับการทำงาน มีคณะกรรมการโครงการมาร่วมกันดำเนินงาน มีการสำรวจและเก็บสถิติ บุหรี่ เหล้า รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีการณรงค์ อบรมให้ความรู้ เพราะพนักงานส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งทางบริษัทมีการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ โดยให้พนักงานไปตรวจสุขภาพ จนพบว่า พนักงานส่วนใหญ่เริ่มมีความดันสูง ซึ่งค่อนข้างวิกฤต หลังเริ่มดำเนินกิจกรรม ที่ช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นสุขภาพดี ปีที่แล้วจึงมีคนลาป่วยเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น"


ก้าวต่อประเทศไทย คุยกับคนทำงานต้านบุหรี่ thaihealth


ด้าน ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) ให้ข้อแนะนำถึงกลไกการทำงานเรื่องปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในสถานประกอบการในประเทศไทย ว่า ด้วยบริบทของสถานประกอบการเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างจะปิด ดังนั้นในการดำเนินกิจกรรมหรือปรับพฤติกรรมของพนักงานค่อนข้างยาก แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือต้องเอาการส่งเสริมสุขภาพเข้าไปใส่ไว้ในงานประจำและสร้างให้เป็นนิสัย


"ฝากถึงสถานประกอบการให้ร่วม ส่งเสริมสุขภาพพนักงาน โดยทำให้ ครบวงจร ทั้ง 4 กระบวนการได้แก่ 1.ทำเป็นองค์รวม โดยทำตามกฎหมาย สภาพแวดล้อมต้องปลอดบุหรี่ การให้ความรู้ โดยให้ทั้งคนที่มีและไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน และ มีกิจกรรมสนับสนุนให้เลิกพฤติกรรมสี่ยงและเสริมพฤติกรรมดี 2.ทำอย่างเป็นระบบ โดยมี นโยบาย เป้าหมาย และตัววัดความสำเร็จที่ชัดเจน รวมทั้งมีการวิเคราะห์ปัญหาและกระบวนการทำงานที่เป็นขั้นตอน และ มีการประเมินผลที่ชัดเจนเช่นกัน 3.ทำอย่าง มีส่วนร่วม ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจัง จากผู้บริหารในทุกกระบวนการในการทำงานร่วมกันกับคณะทำงานและพนักงาน และ 4.ทำอย่างต่อเนื่องทั้ง 4กระบวนการนี้ ถือเป็นกลไกในการทำงานที่สถานประกอบสามารถนำไปปฏิบัติได้" ดร.ศันสนีย์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code