ก่อน ‘ไทม์เอาต์’ พ่อแม่ต้อง ‘ไทม์อิน’

ที่มา : เดลินิวส์


ก่อน 'ไทม์เอาต์' พ่อแม่ต้อง 'ไทม์อิน' thaihealth


แฟ้มภาพ


ลูกน้อยจอมซนอาละวาดขว้างปาข้าวของ ไม่ยอมเก็บของเล่น คุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านก็อาจจะมีวิธีรับมือแตกต่างกันไป และวิธีหนึ่งที่นิยมกันก็คือ การ Time out (ไทม์เอาต์) หรือขอเวลานอก แยกลูกออกมา เพื่อให้สงบสติอารมณ์


นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า พฤติกรรมเด็กในแต่ละช่วงวัย มีสภาวะอารมณ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม การ Time out ไม่ใช่การลงโทษเด็ก แต่เป็นการสอนและฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง ยิ่งเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับเด็กมากเท่านั้น และเมื่อลูกทำได้พ่อแม่ควรชื่นชมลูกเมื่อลูกจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดี


ไทม์เอาต์ จริง ๆ แล้วไม่ใช่การทำโทษ แต่ควรเรียกว่าเป็นการปรับพฤติกรรม คือ เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พ่อแม่ผู้ใหญ่ห้ามแล้ว เบี่ยงเบนความสนใจแล้ว ก็ยังทำอยู่ ก็อาจใช้การไทม์เอาต์ คือ แยกเด็กออกจากสถานการณ์นั้น ๆ ไปสงบสติอารมณ์ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักจัดการอารมณ์ของตัวเอง เมื่อก่อนนี้อาจเคยได้ยินมาว่าระยะเวลาไทม์เอาต์แต่ละครั้ง คือเท่ากับอายุเด็ก เช่น 2 ขวบก็ 2 นาที 5 ขวบ ก็ 5 นาที แต่งานวิจัยจากต่างประเทศล่าสุดพบว่า วิธีนี้อาจไม่ได้ผลเสมอไป เพราะการไทม์เอาต์ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการปรับพฤติ กรรมให้เด็กสงบตัวเอง ดังนั้น หากเด็ก ๆ สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองให้สงบลงได้ก่อนเวลาที่กำหนด ก็ควรจะออกจากการไทม์เอาต์และกล่าวชมลูก ที่จัดการอารมณ์ตัวเองได้สำเร็จด้วย


ด้าน ผศ. (พิเศษ) แพทย์หญิง ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า วิธีการไทม์เอาต์จะได้ผลดี ก็ต่อเมื่อพ่อแม่มี การ Time-in (ไทม์อิน) กับลูกอย่างสม่ำเสมอ ไทม์อินในที่นี้ ก็คือ การใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างมีคุณภาพ คือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกให้แรงเสริมทางบวก กล่าวชมเมื่อลูกทำดี หมั่นสังเกตเห็นสิ่งดี ๆ ที่ลูกทำ ไม่ใช่เห็นแต่สิ่งผิด เอาแต่ตำหนิและสั่งให้ลูกไปไทม์เอาต์ เพราะหากเป็นเช่นนี้ ลูกก็จะยิ่งทำแต่พฤติกรรมที่ไม่ดี เพราะทำแล้วพ่อแม่สนใจ ถึงแม้จะเป็นคำตำหนิ แต่ลูกก็จะรู้สึกว่าเรียกร้องความสนใจได้สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง


สำหรับการใช้วิธีไทม์เอาต์กับเด็ก อายุ 2-3 ขวบ ควรเลือกใช้คำสั่งที่สั้นกระชับเข้าใจง่ายเช่น "หยุด ไปนั่งพัก ไม่ตีน้อง น้องเจ็บ" การอธิบายเหตุผลยาว ๆ กับเด็กวัยนี้อาจไม่ได้ผลนัก เมื่อลูกนั่งพักสงบลงในระยะเวลาที่กำหนดได้แล้ว ควรชวนลูกกลับมาทำกิจกรรมต่อไปได้ตามปกติ สำหรับหนูน้อยวัย 4-5 ขวบ ขึ้นไป นอกจากการใช้ไทม์เอาต์ พ่อแม่อาจลองใช้วิธี คุยกับลูกเพื่อให้เขาได้ไตร่ตรองสิ่งที่ทำ เช่น เมื่อลูกผลักน้องล้มลง อาจจะเรียกลูกมาแล้วถามว่า "กฎของการเล่นกันคืออะไร" "มีวิธีอื่นไหมที่ทำได้โดยไม่ต้องผลักน้อง" วิธีนี้จะทำให้เด็ก ๆ ได้ฝึกคิดว่าแทนที่จะทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เขายังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าที่สามารถทำได้


ท้ายที่สุด ผศ.(พิเศษ) พญ.ปราณี ยังเน้นย้ำว่า สายสัมพันธ์ที่ดีเท่านั้นที่จะช่วยให้ลูก ๆ ยอมรับและเชื่อตามคำสอนของเราได้ ดังนั้นแม้จะไทม์เอาต์กี่ร้อยครั้ง แต่หากพ่อแม่ไม่เคยไทม์อิน หรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเลย  การปรับพฤติกรรมก็ยากที่จะสำเร็จได้

Shares:
QR Code :
QR Code