ก่อนฉลองปีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย-เคารพกฎจราจร
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ โดย ลมกรด
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
อีกไม่กี่วันจะถึงเทศกาลปีใหม่ จะได้หยุดยาวไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัด ได้กลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับการฉลองปีใหม่ก็คือความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วง 7 วันอันตรายมียอดผู้เสียชีวิต 300-400 คน บาดเจ็บอีกหลายพันคน
แม้ว่าภาครัฐปูพรมตั้งด่านตามถนนสายหลักสายรอง รณรงค์กระตุ้นผู้ขับขี่ยวดยานให้ปฏิบัติตามมาตรการขับขี่ปลอดภัย ตรวจสภาพความพร้อมของยวดยาน แต่ยอดความสูญเสียก็แทบไม่ได้ลดลงเลย อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายก็ยังต้องช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์กันต่อไป เพราะทุกชีวิตมีค่า
ในนิตยสาร “สร้างสุข” ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฉบับเดือน ธ.ค.61 ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ อ้างอิงรายงานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนสูงเป็นอันดับสองของโลก ตกปีละประมาณ 24,000 คน โดย 83% เกิดกับกลุ่มคนเดินเท้า ผู้ใช้จักรยาน และรถมอเตอร์ไซค์
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ภายในปี 2563 กำหนดให้ประเทศสมาชิก ลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง เป้าหมายนี้นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับไทย เพราะ 90% ของการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจาก “พฤติกรรมคน” ซึ่งควบคุมได้ยาก
ปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุประกอบด้วย 1.คน เกิดจากพฤติกรรม เมาแล้วขับ ซิ่ง ปาด เบียด แซง ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร 2.ถนน มาจากปัญหาเรื่องโครงสร้าง ทางโค้ง ป้ายบอกทาง ถนนชำรุด 3.รถ ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน 4.สิ่งแวดล้อม มาจากธรรมชาติ เช่น ฝน หมอก ความมืด
การหยุดอุบัติเหตุนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ถ้าคนไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ต่อให้ถนนมีโครงสร้างที่ดีเพียงใด รถอยู่สภาพพร้อมแค่ไหน ก็ยากที่จะหยุดอุบัติเหตุได้
อย่างไรก็ตาม มีสมมติฐานว่าการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เป็นถนนที่ปลอดภัย จะทำให้พฤติกรรมของคนใช้ถนนค่อยๆ เปลี่ยนแปลงดีขึ้น เช่น การใช้กล้องตรวจวัดความเร็ว หรือป้ายแสดงอัตราความเร็วแบบเรียลไทม์
มีตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ กล้องตรวจจับความเร็วมีผลต่อพฤติกรรมการขับรถ สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตในเขตเมืองได้ 20% และในเขตชนบทลดได้ถึง 65% ส่วนเครื่องตรวจจับแบบเคลื่อนที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตในเขตเมืองได้ 45% ในชนบทลดได้ 20% และลดจำนวนผู้บาดเจ็บได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่ประเทศไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่มีการติดตั้ง กล้องตรวจจับความเร็ว บน ทางหลวงสาย 118 ดอยสะเก็ด-เชียงใหม่ เห็นผลชัดเจนในการลดความเร็วและลดอุบัติเหตุ ตลอดทั้งปีนี้มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 คนเท่านั้น จากเดิมมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 คนต่อปี
นิตยสารสร้างสุขยังได้หยิบยกข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ผู้ขับขี่ไม่เคยนึกถึง หรืออาจจะเคยได้ยินแต่มองข้ามไป นั่นคือในระยะทาง 30 กิโลเมตร รถที่วิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. กับ 120 กม./ชม. จะถึงที่หมายต่างกันเพียง 5 นาที เท่านั้น (ขับ 90 กม./ชม. ใช้เวลา 20 นาที ขับ 120 กม./ชม. ใช้เวลา 15 นาที) แต่มีความเสี่ยงสูงกว่ามาก และความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็หนักกว่ากันมาก