กุญแจพิทักษ์สิทธิเด็ก-เยาวชนต้านภัย `น้ำเมา`

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


กุญแจสำคัญพิทักษ์สิทธิเด็ก-เยาวชนต้านภัย 'น้ำเมา' thaihealth


ปัญหาการดื่มน้ำเมาเป็นปัญหาสังคมที่มีสาเหตุพื้นฐานเช่นเดียวกับปัญหาทางสังคมอื่นๆซึ่งมักเกิดจากการสะสมมาอย่างยาวนาน การแก้ไขปัญหาจึงต้องส่งเสริมป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กและเยาวชนคือกำลังสำคัญของชาติ


ในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อ "สานพลังพิทักษ์สิทธิเยาวชน" จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และภาคีเครือข่าย มีข้อมูลที่น่าสนใจจากวงเสวนากรณีสิทธิเด็กและเยาวชนในการอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์


ผลการศึกษาความสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทยล่าสุดปี 56 และวิเคราะห์เพื่อแปลผลในปี 59 โดย สสส. ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่าคนไทยสูญเสียปีสุขภาพดีร่วมกัน 15.3 ล้านปี โดยตายก่อนวัยอันควร 10 ล้านปี ต้องอยู่อย่างเจ็บป่วย พิการ 5.3 ล้านปี ซึ่งมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะสูงถึง 930,053 ล้านบาท หรือ 7.2% ของจีดีพีประเทศ โดยมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดโรคเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์"


กุญแจสำคัญพิทักษ์สิทธิเด็ก-เยาวชนต้านภัย 'น้ำเมา' thaihealth


"การดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชนไทย เริ่มต้นที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งกับตัวเด็ก ครอบครัวและคนอื่นๆในสังคมยิ่งปัจจุบันที่สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณาและปลูกฝังทัศนคติที่ผิดให้กับเด็กและเยาวชนซึ่งจะกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ต่อไป" เป็นทรรศนะของ พงษ์ภัค มงคลชัยพานิช ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย


พงษ์ภัคอธิบายว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาและต้องแก้ไขเป็นอันดับต้นๆเพราะอยู่ใกล้ตัวเด็กและเยาวชนมากที่สุด นอกจากนี้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนหลายกรณี มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่ปัญหาการเมาแล้วขับ วัยรุ่นยกพวกตีกัน และการก่อคดีอาชญากรรม 


ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผอ.สถาบันไทยพัฒน์ เล่าถึงหลักปฏิบัติทางธุรกิจและการส่งเสริมสิทธิเด็กและเยาวชนของภาคธุรกิจ ว่าแม้สิทธิเด็กจะได้รับการยอมรับมายาวนานแล้วก็ตาม แต่ยังมีเด็กอีกมากมายทั่วโลกที่ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมและถูกทอดทิ้ง ทางองค์การยูนิเซฟจึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักการสิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ หรือ CRBP ซึ่งเสนอให้ภาคธุรกิจเคารพและสนับสนุนสิทธิเด็กในแง่มุมต่างๆ อย่างยั่งยืน โดยเน้นการผนวกเรื่องสิทธิเด็กเข้าไว้ในนโยบายการดำเนินงานของบริษัท


กุญแจสำคัญพิทักษ์สิทธิเด็ก-เยาวชนต้านภัย 'น้ำเมา' thaihealth


ผอ.สถาบันไทยพัฒน์ เสริมว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการปลูกฝังความรับผิดชอบเข้าไปในกระบวนการทำงานของทุกธุรกิจเพราะถ้าเราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยเคารพต่อสิทธิของเด็กและเยาวชนมากขึ้น จะทำให้เป้าหมายในการรณรงค์เรื่องนี้มีความยั่งยืน


ปิดท้ายกันที่"Kristina Sperkova ประธานIOGT International  ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่มีการดำเนินงานต่อต้านสุราและยาเสพติดโดยเน้นการดำเนินงานในกลุ่มเยาวชนได้นำเสนอผ่านวิดีโอ Skype ถึงสถานการณ์สิทธิเด็กในระดับโลกว่าในปัจจุบันธุรกิจแอลกอฮอล์ใช้การตลาดในทางที่ผิดศีลธรรม โดยการแทรกซึมผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือประเพณีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงตัวผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตเบียร์ที่สนับสนุนการแข่งขันกีฬา โดยใช้เด็กเป็นส่วนร่วม การใส่ตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มบนเสื้อกีฬา การเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่ง่ายดายซึ่งหลายประเทศไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งผลของการโฆษณาทำให้เด็กจดจำตราสินค้าแอลกอฮอล์กับทีมกีฬาที่ชื่นชอบ และมีแนวโน้มเริ่มดื่มสินค้ายี่ห้อนั้นมากขึ้น


ประธาน IOGT International เผยว่า มีกรณีศึกษาการใช้กลยุทธ์การทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ของเบียร์ยี่ห้อหนึ่งในประเทศกานา โดยพบว่า ยิ่งมีการทำ CSR มากเท่าไหร่ตัวเลขทางการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่น การที่ธุรกิจแอลกอฮอล์ทำการตลาดเข้าใกล้เด็กและเยาวชน จึงกลายเป็นการรุกล้ำสิทธิพื้นฐานของเด็ก ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การพิทักษ์สิทธิของเด็กเกิดผลสูงสุด


การปลูกฝังแนวคิดที่ดีโดยไม่ล่วงล้ำสิทธิเด็กคือการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โน้มน้าวใจให้เข้าไปสัมผัสควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้นโยบายคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของชาติต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code