“กุญแจดอกที่ 2” เปิดประตู สัมผัสใจ โลกใหม่ของผู้ต้องขังหญิง
ทุกวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสตรีสากลเพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ของแรงงานสตรี ให้ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ดูแล และมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
ไม่เพียงแต่แรงงานสตรีเท่านั้น อีกมุมหนึ่งของสังคมที่ถูกปิดกั้นและล้อมรอบด้วยกำแพงสูงที่เรียกว่า “เรือนจำ” ยังมีกลุ่มสตรีอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการสิทธิเสรีภาพ ที่เท่าเทียม การยอมรับ และโอกาสจากสังคม ที่เป็นเหมือน“กุญแจดอกที่สอง” ที่เปิดประตูให้ผู้ต้องขังก้าวออกไปสู่โลกภายนอก ซึ่งผู้ถือกุญแจดอกที่สองนั่นคือ คนในครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่จะใช้กุญแจดอกนี้เปิดประตูให้กับผู้ต้องขัง ส่วนกุญแจดอกแรก คือกุญแจที่ไขให้ผู้ต้องออกมาจากเรือนจำ แต่ผู้ต้องขังก็ยังไม่สามารถก้าวออกไปสู่โลกแห่งอิสรภาพได้อย่างสมบูรณ์หากไม่มีผู้ไขกุญแจดอกที่สองให้เมื่อยามที่ก้าวพ้นออกจากเรือนจำ
”โครงการกำลังใจ” ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา “และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกันจัดเวทีเสวนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง “การจัดการเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ต้องขังหญิง” รวมถึงปรับเปลี่ยนฐานคิดของผู้เกี่ยวข้องและของสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงให้สามารถยืนด้วยตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง มีโอกาส มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตั้งแต่อยู่ในเรือนจำจนกลับมาดำรงชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุข
หนึ่งในวิธีการเยียวยาจิตใจผู้ต้องขังหญิงเพื่อเตรียมพร้อมก่อนจะก้าวสู่อิสรภาพนั้น อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีอิสระ ซึ่งได้มีโอกาสเข้าไปสอนการเขียนให้แก่ผู้ต้องขังหญิง เล่าว่า เมื่อได้เข้าไปในห้องขังก็รู้สึกได้ว่า ผู้ต้องขังหญิงมีความรู้สึกหดหู่ และคิดเสมอว่าตนเองไม่มีคุณค่า เพราะทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาในโลกหลังกำแพงใบนี้ก็ดูเหมือนทุกอย่างจะถูกมองในด้านลบ จึงทำให้ตนกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้พวกเขามีความรู้สึกที่ดี มีกำลังใจ หรือรู้สึกว่าชีวิตของเขามีคุณค่า มีความหมายกับตัวเองและผู้อื่น
“มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เมื่อได้มาเป็นครูที่นี่ สิ่งที่คิดมีเพียงอย่างเดียวคือ จะทำอย่างไรให้เขามีความสุขมากกว่านี้ ตนก็จะทำเท่าที่สามารถทำได้” อรสม บอกถึงความรู้สึก
อรสม เล่าต่อว่า เมื่อตนได้เข้าไปเป็นครูสอนการเขียนเรื่องเล่าให้กับนักเรียนที่เป็นผู้ต้องขังหญิงก็จะบอกเสมอว่า ครูไม่ได้แค่ต้องการสอนเพียงเท่านั้น แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเยียวยาจิตใจด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เขาขาดแคลน เมื่อเวลาสอนสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ นั่นคือ สายตาและสีหน้าของนักเรียนทุกคน ในบางวันนักเรียนบางคนมีสีหน้าและแววตาที่ผิดปกติไป ตนก็จะพูดคุยเป็นการส่วนตัว พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ให้คำปรึกษาและกำลังใจ
“อีกสิ่งหนึ่งที่ครูทำก็คือ กอด เพราะการกอดเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความใกล้ชิด นักเรียนจะรู้สึกอบอุ่น ไม่หว้าเหว่และโดดเดี่ยว ซึ่งครั้งหนึ่ง มีนักเรียนหน้าใหม่ไม่ยอมกอดและบอกว่า “ในชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยกอดใคร” บ่งบอกได้เลยว่า ไม่เคยมีใครกอดเหมือนกัน ตนจึงทำได้เพียงแค่สบตาและมองในตา เวลาที่มองนักเรียน ตนจะมองด้วยความรักและเมตตา ทำให้เห็นถึงความตั้งใจของเราและจึงตัดสินใจยอมให้กอดเมื่อกอดเสร็จก็ร้องไห้ จึงทำให้รู้เลยว่าที่ผ่านมาเขารู้สึกโดดเดี่ยว และอ้างว้างมากแค่ไหน” อรสมบอก
นักเขียนสารคดีอิสระ เล่าต่ออีกว่า เมื่อทำกิจกรรมการสอนเสร็จแล้วเราเองก็รู้สึกเหมือนว่ายังส่งลูกศิษย์ไม่ถึงฝั่งจึงคิดว่าอะไรที่เราทำได้ พอช่วยได้ก็จะทำจึงจัดตั้งกิจกรรมจิตอาสาที่มีชื่อว่า “จิตอาสาจากแดนประหาร” เพื่อเป็นการต่อยอดกิจกรรมการเขียนเรื่องเล่า ซึ่งจะทำกิจกรรมทุกเดือนๆ ละครั้ง ที่จะเข้าไปดูแลและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เค้ารู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่าและใช้เวลาที่มีอยู่อย่างเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นอย่างมีความสุข
เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องราวที่เสียเปล่า อรสม จึงนำประสบการณ์ที่ตนได้รับจากการสอนผู้ต้องขังหญิง มาถ่ายทอดผ่านปลายปากกาออกมาเป็นตัวหนังสือที่เปรียบเสมือนกับเป็นครูให้กับผู้อ่านและคนในสังคมได้รับรู้เรื่องราวและโลกภายในห้องขัง
“เมื่อกุญแจเรือนจำเปิดแล้ว อยากให้ทุกคนในสังคมได้เห็นและรับรู้ถึงจิตใจของผู้ต้องขัง รวมถึงพร้อมที่จะยอมรับและเปิดโอกาสให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรี และได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกับคนในสังคม เพราะสังคมเป็นกุญแจดอกที่ 2 ที่สามารถเปิดประตูแห่งการปิดกั้นทางความรู้สึกแก่ผู้ที่เคยพลาดพลั้ง คนเรามีทั้งความดีและความพร่องในตัวเอง การเปิดใจคือสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเมตตาและเป็นสุข” อรสม นักเขียนสารคดีอิสระทิ้งท้าย
เรื่องโดย : พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th