กินให้มีผลต่อสุขภาพ
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
ไม่กินอาหารที่ผิดสุขลักษณะ โบราณกล่าวว่า “โรคเกิดจากช่องทวารปาก” ซึ่งมีความหมายหลายนัยด้วยกัน
1.กินอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่ไม่สะอาดทำให้มีเชื้อโรค พยาธิ สารพิษ เข้าสู่ร่างกาย เกิดอาการปวดท้องแน่นท้อง อาเจียน เป็นบิด มีพยาธิ อาหารที่เน่าเหม็น ทำให้เกิดการหมักหมม มีพิษสะสม เกิดอาการต่างๆ ตามมามากมาย
2.เวลาและปริมาณที่กินไม่เหมาะสม หลักการเลือกปริมาณการกิน คือ หลักที่ว่าไม่ควรให้หิวจัดหรืออิ่มจัด และ “อาหารเช้าต้องดี อาหารเที่ยงต้องอิ่ม อาหารเย็นต้องน้อย” ปริมาณมื้อเช้าร้อยละ 35 มื้อเที่ยงร้อยละ 40 มื้อเย็นร้อยละ 25
โบราณกล่าวว่า “มื้อเย็นลดน้อยหน่อย ชีวิตยืนยาวถึงเก้าสิบ” เป็นการเน้นถึงปริมาณอาหารมื้อเย็น ควรอยู่ในปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับมื้ออื่น เพื่อลดการทำงานของระบบการย่อยอาหาร ป้องกันการตกค้างของอาหารในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ป้องกันภาวะอ้วน ป้องกันการนอนหลับไม่สนิท ลดการรบกวนภาวะพักผ่อนฟื้นฟูของร่างกาย ซึ่งเป็นพื้นฐานของการบำรุง ดูแลสุขภาพ เพื่อให้เกิดอายุยืนยาว
นอกจากนี้หลังอาหารใหม่ๆ ไม่ควรนอนหลับทันที แพทย์แผนจีนถือว่า ถ้าภาวะอาหารในกระเพาะอาหารยังมีอยู่จะรบกวนการนอนหลับ ด้านกลับกัน การนอนหลับก็เป็นการทำให้ระบบย่อยทำงานน้อยลง (อยู่ในภาวะพักฟื้นฟู) ผลทำให้อาหารตกค้าง ไม่ดูดซึม เกิดความร้อนในร่างกายไปรบกวนการนอนหลับทำให้หลับไม่สนิทอีกจึงมีคำกล่าวว่า “หลังอาหารเดินร้อยก้าว บรรลุเก้าสิบเก้าอายุขัย”เพื่อต้องการให้มีการเคลื่อนไหวเบาๆ ในทางวิทยาศาสตร์ เราพบว่า การเดินหลังอาหารเย็นจะช่วยลดปริมาณฮอร์โมนอินซูลินในกระแสเลือดที่หลั่งมากในตอนเย็น (อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากตับอ่อน ถ้ามีมากจะทำให้มีการแปรเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายทำให้อ้วน)
3.เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ลิ้มรสอาหารอย่างตั้งใจ เทคนิคการเคี้ยวให้ละเอียด ตั้งใจลิ้มรสชาติของอาหาร เป็นการกระตุ้นระบบการย่อย กระตุ้นความอยากอาหาร ซึมซาบธรรมชาติของรสอาหาร แพทย์แผนจีนกล่าวว่า “ม้ามกระตุ้นโดยปาก” (ระบบย่อยทำงานได้ดีขึ้นอยู่กับการกินที่มีศาสตร์และศิลป์) ไม่เพียงแต่ม้าม (ระบบย่อย) เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่การรับรู้รสชาติของอาหารยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับอวัยวะจั้งฝู่อื่นๆอีกด้วย ความรู้สึกของการรับรสสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติของโรคภายในร่างกาย ตัวอย่างเช่นคนที่กินอาหารแล้วไม่รับรู้รสใดๆ (รสทั้ง 5 หวาน เปรี้ยว ขม เผ็ด เค็ม) ทำให้กินอาหารได้น้อย เป็นเพราะระบบการย่อยกระเพาะอาหาร ม้ามพร่อง ทำงานหย่อนสมรรถภาพ
4.ควรมีสมาธิในการกิน ไม่ทำกิจกรรมอื่นควบคู่ไปด้วย ควรสร้างนิสัยการกินอาหารที่ถูกต้อง การทำกิจกรรมอื่น เช่น อ่านหนังสือ พูดคุย ครุ่นคิด
นอกจากจะไม่สามารถดูดซับธรรมชาติของรสชาติอาหารแล้ว แพทย์แผนจีนเชื่อว่า การครุ่นคิด หรือการไปสนใจกิจกรรมอื่นๆ ในขณะกิน จะทำให้พลังลมปราณในร่างกายไม่มีการรวมศูนย์ มีการกระจัดกระจายของพลังลมปราณ ทำให้การย่อยดูดซึมอาหารขาดความสมบูรณ์ ทั้งนี้รวมถึงพฤติกรรมการรีบทำงานหรือกิจกรรมอย่างเคร่งเครียด ภายหลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ คนจีนจึงแนะนำสืบทอดกันมาว่า “ขณะกินข้าว ไม่ควรพูดคุยกัน” ก็ด้วยเหตุดังกล่าว
นอกจากนี้ยังห้ามกินอาหารทันทีขณะที่มีอารมณ์โกรธ เพราะอารมณ์โกรธจะกระทบกระเทือน ดับ (ธาตุไม้) เกิดไฟดับ ซึ่งจะไปข่มม้าม (ธาตุดิน) ทำให้อาหารไม่ย่อย พลังลมปราณในการย่อยย้อนกลับด้านบนทำให้เรอ แน่นหน้าอก อาเจียนได้
5.ควรสังเกตความรู้สึกอยากอาหาร คนที่มีความรู้สึกอยากอาหาร เวลากินอาหารแล้วมีรสชาติ มีความสุข ถ้ากินได้ปริมาณพอเหมาะ แสดงว่าระบบการย่อยทำงานปกติ คนที่เบื่ออาหาร ถึงเวลากินอาหารก็ไม่อยากกิน กินแล้วก็ไม่ถูกปาก ไม่มีรสชาติ ถ้าเป็นผลจากภาวะตึงเครียดหรือเจ็บป่วยชั่วคราว ไม่นับว่าเป็นอันตรายใดๆ แต่ถ้าเบื่ออาหารเรื้อรัง ยาวนาน ทำให้น้ำหนักลด อ่อนเพลียไม่มีแรง สีหน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ท้องเสียบ่อย แน่นหน้าอก ท้องอืดง่าย แขนขารู้สึกหนักตึง ฝ้าบนลิ้นหนามาก แสดงว่ามีระบบการย่อย (กระเพาะอาหารและม้าม)พร่อง ถ้าความร้อนชื้นในกระเพาะมากขึ้น (ดูจากฝ้าขาวบนลิ้นหนามาก) และมีผิวหนังสีเหลืองจากน้ำดี เป็นดีซ่าน แสดงว่าเป็นตับอักเสบ ซึ่งถือว่าเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการย่อยผิดปกติ
คนที่เบื่ออาหารทุกประเภท เช่น เห็นอาหารแล้วเบื่อ เอ่ยถึงผัก เนื้อ น้ำมัน ก็จะมีอาการคลื่นไส้ แสดงถึงความผิดปกติของตับและถุงน้ำดี คนบางคนมีความรู้สึกอยากกิน แต่พอกินเข้าจริงๆกลับกินได้น้อยหรือไม่ค่อยอยากกิน ซึ่งมักพบภายหลังจากมีไข้ตัวร้อนสูงหรือคนที่มีอาการอาเจียนเรื้อรัง หรือในหญิงตั้งครรภ์บางราย แพทย์แผนจีนมองว่า เป็นสาเหตุจากการสูญเสียน้ำ (จากไข้สูงหรือจากการอาเจียน) ทำให้ขาดยินของกระเพาะอาหาร ภาวะพร่องของกระเพาะอาหารร่วมกับเกิดไฟ ความร้อนขึ้น หญิงตั้งครรภ์มักชอบรสเปรี้ยว เผ็ด ในระยะแพ้ท้องหรือตั้งครรภ์อ่อนๆ ไม่จัดว่าเป็นโรค เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสรีรสภาพของร่างกาย
คนบางคนชอบกินอาหารแปลกๆ เช่น กินข้าวสาร กินดิน กินขี้เถ้า ซึ่งมักมีสาเหตุจากการมีโรคพยาธิในร่างกาย
คนบางประเภทมีความอยากมากผิดปกติ กินอะไรก็อร่อยไปหมด ยังไม่ถึงเวลาอาหารก็เกิดความหิว กินก็กินได้มาก คนประเภทนี้ถือว่าเป็นโรคอย่างหนึ่ง
การกินมากแต่หิวบ่อย เกิดจากมีความร้อนในกระเพาะอาหารมากเกินไป ทำให้มีการเผาผลาญอาหารมาก คนประเภทนี้จะมีการเผาผลาญอาหารและขับถ่ายของเสียมากผิดปกติ ถ้ามีอาหารกินมาก กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย ควรตรวจเช็กเลือดดูโรคเบาหวาน
สรุปได้ว่า ควรกินอาหารให้มีปริมาณพอเหมาะกับแต่ละมื้อ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สอดคล้องกับปัจเจกบุคคล ไม่ปล่อยให้หิวและอิ่มจนเกินไป ไม่ควรกินอาหารที่มีรสซ้ำซากรสชาติเดียว กินอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ไม่กินอาหารมื้อเย็นในปริมาณมาก กินเสร็จใหม่ควรเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายด้วยกิจกรรมเบาๆ เพื่อกระตุ้นการย่อยอาหาร การกินอาหารต้องมีสมาธิ ไม่ทำกิจกรรมอื่นที่ต้องใช้ความคิดควบคู่ไปด้วย เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดูดซับรสชาติของอาหารเป็นการกระตุ้น การย่อยและระบบประสาท และต้องหมั่นสังเกตตนเองเกี่ยวกับความอยากอาหาร เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกระจกสะท้อนถึงปัญหาสุขภาพของเราเอง