"กินอย่างไร สดใส-ไกลโรค"
ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ คนทุกคนต่างก็อยากมีชีวิตห่างไกลโรค มีสุขภาพที่ดีแต่ทุกวันนี้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากมาย ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกิน สภาพแวดล้อมถ้าอยากสุขภาพดีต้องใส่ใจดูตัวเอง สังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน "กินอย่างไร สดใส – ไกลโรค" กับ SOOK Activity ในแนวคิด "SOOK Society" เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันสาเหตุของความเสี่ยงต่างๆ อันเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพ
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ได้พูดถึงปัญหาสุขภาพของคนปัจจุบันที่ถือเป็นภัยเงียบและน่ากลัวที่สุดในตอนนี้ คือ กลุ่มของโรคNCDsที่ประกอบด้วย4กลุ่ม ได้แก่1.กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด2.กลุ่มโรคเบาหวาน3.กลุ่มโรคมะเร็ง และ4.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ซึ่งพบว่าโรคดังกล่าวจัดเป็นฆาตกรอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่าสาเหตุการเสียชีวิตอื่นๆ ทุกสาเหตุรวมกัน
"กลุ่มโรค NCDs จะเรียกว่าเป็นกลุ่มโรคทำร้ายตัวเองก็ว่าได้ เพราะสาเหตุของโรคเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้ชีวิตประจำวันของเราเองทั้งสิ้น เช่น การเลือกรับประทานอาหาร ภาวะเครียดเป็นต้น อย่างหนึ่งที่น่ากลัว คือ พบผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันคนไข้อายุ 30 ปี ก็มีโรคในกลุ่มนี้แล้วโอกาสที่เด็กวัยรุ่นมีโอกาสเป็นได้ก็มากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจวิธีดูแลสุขภาพลูกหลานของเราด้วย" พญ.ธิดากานต์ กล่าว
หมอผิง ยังได้แนะนำถึงหลักการกินที่ทุกคนสามารถจดจำได้ง่ายๆ คือ ทฤษฎี Harvard Healthy Eating Plate คิดค้นโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อให้เข้าใจถึงสัดส่วนการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ โดยจินตนาการจานหนึ่งใบ แบ่งออกเป็น4ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่1เลือกรับประทานผักที่หลากสี ส่วนที่2เลือกรับประทานผลไม้หลากหลายชนิด ส่วนที่3เลือกธัญพืชผ่านการขัดสีน้อย และส่วนที่4เลือกรับประทานโปรตีนที่มีประโยชน์เช่น ปลา สัตว์ปีก และถั่วต่างๆ รวมถึงการเลือกใช้น้ำมัน ควรใช้น้ำมันมะกอกน้ำมันคาโนลา หรือน้ำมันพืชอื่นๆ ในการปรุงอาหาร เพราะไขมันที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยลดคอเรสเตอรอล ดีต่อหัวใจ และควรดื่มน้ำเปล่า หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม อีกทั้งต้องออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ
"ใน 1 วัน ควรที่จะรับประทานผักและผลไม้ให้ได้5กำมือ ซึ่งสรุปจุดสำคัญง่ายๆ ทุกช่วงอายุควรรับประทานให้หลากหลายและให้พอดีแบบทางสายกลาง" หมอผิงแนะนำ
ด้าน นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ได้ฝากถึงคุณแม่ไม่ควรที่จะเลือกอาหารให้ลูกรับประทานแบบเมนูซ้ำๆ เช่นรับประทานแต่เนื้อไก่ปั้นชุบแป้งทอดทุกมื้อทุกวัน เพราะจะทำให้ได้รับสารสะสมตกค้างเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ก่อเกิดเป็นสารพิษอันตรายต่อสุขภาพดังนั้นผู้ปกครองควรให้ลูกรับประทานอาหารหมุนเวียน อาจเป็นการเตรียมอาหารให้สอดคล้องกับการกินของเด็กสมัยปัจจุบัน เช่น เด็กหลายๆ คนไม่ยอมรับประทานผักลองให้ลูกทดลองรับประทานมันฝรั่งทอดจิ้มซอสมะเขือเทศ ถ้าลูกชอบก็ให้ถือโอกาสเตรียมอาหารแบบเดียวกัน เช่น เตรียมอาหารด้วยการใช้ผักอย่างฟักทองแครอต ถั่วฝักยาวใบผักตำลึง เนื้อสัตว์ ที่ไม่ต้องเคี้ยวมากเช่น เนื้อปลา กุ้ง ไก่ นำมาชุบแป้งทอดรับประทานกับซอสมะเขือเทศ ควรเตรียมวันละ1ชุด ทำอาหารหมุนเวียนกันไป
"ผู้ปกครองควรจะต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกในเรื่องการกิน-อยู่เพราะเด็กจะรับพฤติกรรมการกินจากคนที่ใกล้ชิดและวางใจ ถ้าให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงที่รับประทานแต่ขนมกรุบกรอบ ข้าวเหนียวจิ้มเกลือหรือผลไม้ดองลูกก็จะชอบกินตามนั้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้กับลูกเพื่อลูกจะได้รับสิ่งเหล่านี้นำไปใช้ได้ตลอดชีวิต" คุณหมอพงษ์ศักดิ์แนะนำทิ้งท้าย
การรู้จักรับประทานอาหารที่เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อร่างกายย่อมนำสู่สุขภาพดีชีวีสดใสไกลโรค ที่นับได้ว่าเป็นลาภอันประเสริฐแน่นอน
ผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรมเสาร์สร้างสุข ภายใต้ SOOK Activity ในแนวคิด "SOOK Society" ได้ทุกวันเสาร์ ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซ.งามดูพลี กรุงเทพฯ โดยสามารถลงทะเบียนร่วมกิจกรรมได้ฟรี ด้วยการส่ง ชื่อ-นามสกุล อายุ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ระบุกิจกรรมที่สนใจ มาที่ [email protected] หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 08-1731-8270 (09.00-17.00 น.) จันทร์-เสาร์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ LineID : thaihealth_center รวมทั้งติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติม ได้ที่ www.thaihealthcenter.org
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ