กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคตับแข็ง
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
โรคตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของตับ โดยปกติเนื้อตับจะนุ่ม แต่ถ้ามีอาการ อักเสบหรืออันตรายต่อตับ เนื้อตับจะถูกทำลายกลายเป็นพังผืดลักษณะคล้ายแผล ซึ่งจะทำให้ไปเบียดเนื้อ ตับที่ดี และทำให้เลือดไปเลี้ยงตับน้อยลง ถ้ามีการทำลาย เซลล์ตับอย่างเรื้อรังจนมีพังผืดเกิดขึ้นมาก เนื้อตับที่เคยนุ่มจะค่อยๆ แข็งขึ้น จนกลายเป็น “ตับแข็ง” ในที่สุด ส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของตับลดลง ซึ่งนำมาสู่สุขภาพร่างกายแย่ลงด้วย
สาเหตุที่เซลล์ตับถูกทำลายมีอยู่หลายประการ ที่พบบ่อยมากมักจะเกิดจากการดื่มเหล้าจัดติดต่อกันเป็น เวลานาน ซึ่งแอลกอฮอล์ในเหล้าหรือสุราเมื่อดื่มไปมากๆ จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ จึงเกิดภาวะตับอักเสบและเรื้อรังจนกลายเป็นโรคตับแข็ง นอกจากนี้ ภาวะตับแข็งยังอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี หรือการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันนานๆ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน ยารักษาวัณโรคบางชนิด หรืออาจเป็นเพราะการเจ็บป่วย ด้วยโรคบางอย่าง ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เป็นโรคตับแข็งได้ด้วย เช่น โรคทาลัสซีเมีย อ้วน เบาหวาน ภาวะทางเดินน้ำดีอุดกั้น ภาวะหัวใจเรื้อรัง และภาวะขาดอาหาร
คนเป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน อาจมีเพียงอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย จึงไม่ค่อยรู้สึกตัวว่ามีความผิดปกติที่ตับ ต่อมาจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นบางครั้งน้ำหนักลด อาจรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย เนื้อตัวและนัยน์ตาเหลือง เนื่องจากตับไม่สามารถขับน้ำดี จึงมีการสะสมน้ำดีตาม ผิวหนังจนมีสีออกเหลืองๆ และยังทำให้มีอาการคันตามตัวได้ ความรู้สึกทางเพศลดลง ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีเสียงแหบแห้งคล้ายผู้ชาย ในผู้ชายอาจรู้สึกนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว บางคนอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง
เมื่อเป็นโรคตับแข็งอยู่หลายปีหรือยังดื่มเหล้าจัด จะมีอาการท้องมาน เท้าบวม เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนอัลบูมิน (albumin) ซึ่งเป็นตัวควบคุมความดันน้ำในหลอดเลือดได้เพียงพอ พังผืดที่ดึงรั้งในตับก็จะมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ มีแรงดันในเลือดเพิ่มมากขึ้น เกิดการแตกแขนงเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งจะเปราะบาง และแตกได้ง่าย เห็นเป็นหลอดเลือดพองที่หน้าท้อง เกิดหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารและขา ซึ่งอาจจะแตก ทำให้อาเจียนเป็นเลือดสดๆ ทำให้เสียเลือดมาก อาจจะช็อกถึงตายได้ ในระยะสุดท้ายเมื่อตับทำงานไม่ได้ที่เรียกว่าตับวาย ก็จะเกิดอาการทาง สมอง ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้ตัว (Hepatic encephalopathy) จนหมดสติได้
โรคตับแข็งนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพราะเซลล์ตับที่ถูกทำลายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอหรือหยุดการทำลายตับได้ ถ้าเป็นตับแข็งระยะเริ่มแรก และปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถมีชีวิตได้นานเกิน 5-10 ปีขึ้นไป แต่ถ้าปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจน เช่น ดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด ก็จะมีชีวิตสั้น อาจอยู่ได้ 2-5 ปี
อาหารกับโรคตับแข็ง
ตามธรรมชาติของร่างกาย การเผาผลาญหรือเมตาบอลิซึมของสารอาหารต่างๆ มักเกิดขึ้นที่ตับเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ โดยเฉพาะเนื้อตับที่ถูกทำลายอย่างตับแข็ง ทำให้สารอาหารต่างๆ ที่กินเข้าไปไม่ถูกเผาผลาญและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ร่างกายจึงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ คนเป็นโรคตับแข็งส่วนใหญ่จึงมักมีปัญหาการขาดโปรตีนและพลังงาน สังเกตได้จากคนเป็นโรคตับแข็งส่วนใหญ่จะผอมแห้ง มีกล้ามเนื้อน้อย ในบางคนอาจมีลักษณะหนังหุ้มกระดูก
ดังนั้น แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะโรคตับแข็งก็ควรใส่ใจกินอาหารให้หลากหลายและครบหมวดหมู่ อาหารพวกแป้ง ผัก ผลไม้สด และอาหารพวกโปรตีนเป็นประจำ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ควรระมัดระวังอาหารจำพวกไขมัน ควรกิน ให้น้อยลงกว่าปกติ เนื่องจากตับย่อยไขมันได้น้อยลง ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ให้ใช้ไขมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ที่มีกรดไขมันจำเป็นไลโนเลอิก ถ้าร่างกายมีปัญหามากในการย่อยไขมัน อาจต้องประกอบอาหารด้วยไขมันที่มีห่วงโซ่ขนาดกลาง ที่เรียก ว่า เอ็ม-ซี-ที (MCT = Medium chain triglyceride) ซึ่งพบมากในน้ำมันมะพร้าว เพราะน้ำมันชนิดนี้เมื่อกินเข้า ไปไม่จำเป็นต้องอาศัยน้ำดีมาช่วยย่อย (น้ำดีสร้างมาจากตับถ้าตับเสื่อมลงก็ไม่สามารถสร้างได้)
ผู้ป่วยโรคตับควรได้รับพลังงานให้เพียงพอ เพราะมีความสำคัญที่จะทำให้โปรตีนที่กินเข้าไปได้ใช้ประโยชน์ อย่างเต็มที่ในการสร้างสารที่จำเป็น แหล่งพลังงาน จากอาหารที่สำคัญควรได้มาจากอาหารคาร์โบไฮเดรตจำพวกข้าวและแป้งเป็นหลัก ซึ่งดีกว่าได้พลังงานจาก ไขมันหรือน้ำตาล ถ้าให้ดีควรกินคาร์โบไฮเดรตประเภทเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต
ในระยะแรกของการเป็นตับแข็งที่ยังไม่มีภาวะตับวาย สามารถกินปริมาณของโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ได้ไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป คือประมาณวันละ 6-12 ช้อนกินข้าว แต่ถ้าเป็นตับแข็งที่เริ่มมีอาการทางสมองร่วมด้วย หรือตับมีการเสื่อมลงอย่างมาก การกินโปรตีน มากเกินไปก็จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากของเสียที่ได้จากการสลายโปรตีน คือแอมโมเนีย ไม่สามารถ ขับออกได้เนื่องจากภาวะตับแข็ง ซึ่งจะมีผลเสียต่อสมอง ดังนั้น ควรที่จะลดอาหารพวกโปรตีนลงให้เหลือวันละ 2-3 ช้อนกินข้าวเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน เมื่อต้องควบคุมปริมาณโปรตีนเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการขาดสารอาหารอย่างมาก และสุขภาพของร่างกายแย่ลง แพทย์อาจจะสั่งให้กินโปรตีนชนิดพิเศษ ที่เรียกว่ากรดอะมิโนโซ่กิ่ง (branched chain amino acid) เพิ่มขึ้น
อาการเบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กินอาหารไม่ลง เป็นอาการที่พบทั่วไปในคนที่เป็นโรคตับแข็ง เนื่องจากมีการย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติ จึงควรกินอาหารบ่อยขึ้น เพื่อทำให้ร่างกาย ได้รับอาหารเพียงพอ กินอาหารที่สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุกโดยเฉพาะอาหารทะเล หลีกเลี่ยงอาหารที่ชื้น เช่น ถั่วป่น พริกป่น ที่เป็นแหล่งของสารอะฟลา-ท็อกซิน ทำให้ตับต้องทำงานมากขึ้น และยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากขึ้น
ถ้าคนเป็นโรคตับแข็งมีท้องมานและบวมหลัง เท้า แนะนำให้จำกัดเกลือและลดอาหารเค็ม โดยการหลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ จำพวกน้ำปลา ซีอิ๊ว ในขณะที่กินอาหาร ลดการกินอาหารที่ผ่านการแปรรูป จำพวก ไส้กรอก หมูยอ เป็นต้น เพราะอาหารที่ผ่านการแปรรูปเหล่านี้มักมีการเติมสารที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตอาหาร และควรหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ ที่สำคัญคือ ต้องระวังไม่ดื่มน้ำมากเกินไป โดยทั่วไปไม่ควรเกิน 6 แก้วต่อวัน หรืออาจต้องลดมากกว่านี้ถ้ามีอาการบวมมาก หรืออาจต้องกินยาขับปัสสาวะตามที่แพทย์สั่งด้วย
ที่สำคัญที่สุดคนเป็นโรคตับแข็ง ต้องเลิกดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้เซลล์ตับส่วนที่ยังดีอยู่ ถูกทำลายมากขึ้น ตับเป็นแหล่งเผาผลาญที่สำคัญของแอลกอฮอล์ ตับจึงเป็นอวัยวะที่ได้รับพิษจากเหล้ามากที่สุด อาการของตับแข็งจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทุกข์ทรมานและมีชีวิตสั้นลง
โรคตับแข็งเป็นโรคเรื้อรังและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือการรู้จักดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ถ้าอยู่ในภาวะโรคนี้แล้ว การใส่ใจและรู้จักกินอาหารให้เหมาะสมและปฏิบัติตนให้ดี ก็จะช่วยชะลอความรุนแรงของโรคได้อย่างดี