“กินร้อนฯ”ไม่ถึงเป้า! ต้องเพิ่ม “ไม่กินดิบ”
ที่มา: เว็บไซต์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
อาหารการกินถือเป็นสาเหตุสำคัญของโรคทางเดินอาหารมากมาย ผลวิจัยปี 56 พบยังมีสาระสำคัญอีกหลายอย่างที่ทำให้เราไปไม่ถึงพฤติกรรมเป้าหมายในเรื่อง “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
ผศ.ดร.มลินี สมภพเจริญ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เผยผลวิจัยว่า เรื่องกินร้อน รวมถึงกินสุก พบว่าประชาชนและแม่ค้าขายอาหารปรุงสุก ยังไม่ทราบวิธีอุ่นอาหาร โดยเฉพาะอาหารเสียง่ายควรอุ่นทุกๆ 1 ชั่วโมง
ที่สำคัญอีกประการคือ อาหารประจำถิ่น เช่น ส้มตำปูปลาร้า ปลาที่จับจากบึงหนองแล้วนำมารับประทานเลย ทำให้เสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับ และเมนูที่มีคติความเชื่อแฝง เช่น กินลาบเนื้อสัตว์ดิบๆ ของภาคเหนือ ตามความเชื่อที่ว่า บ้านใดมีงานบุญต้องทำลาบจากเนื้อสัตว์ดิบเลี้ยงแขก เพราะจะเป็นมงคลแก่ผู้มาร่วมงาน หรือหญิงตั้งครรภ์ถ้าเป็นลูกชาย กินลาบดิบจะทำให้ลูกแข็งแรง
เรื่องช้อนกลาง พบว่าเมื่อต้องกินอาหาร-น้ำดื่มร่วมกัน ยังใช้ช้อนกลาง กระบอกน้ำส่วนกลางน้อยมาก
เรื่องล้างมือ คนส่วนใหญ่ใช้น้ำยาล้างมือที่กดจากขวดน้อยมาก บางส่วนยังใช้สบู่ล้างมือ ซึ่งการล้างมือกดจากขวด สะอาดกว่าล้างมือจากสบู่และอาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคสำหรับผู้ล้างมือคนถัดไปได้
ดังนั้น การ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อาจปรับเสริมเพิ่มคำเหมือนบางพื้นที่ทำ เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไม่กินดิบ เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมเสี่ยงที่แตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ และหวังว่าปีนี้ หากนำข้อความสาระสำคัญ (Key message) นี้กลับมาจะมีส่วนช่วยลดการระบาดของโรคทางเดินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ