กินฟาสต์ฟู้ดตอนท้องทำลูกอ้วนตอนโต
เผยไขมันอาหารขยะส่งต่อทางเลือด คงอยู่ และมีผลในระยะยาว
สำนักข่าวบีบีซีรายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับผลของการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีในระหว่างตั้งครรภ์ต่อสุขภาพของลูกในท้องในระยะยาวซึ่งพบว่าการที่แม่รับประทานอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารขยะอาจส่งผลให้ลูกมีปัญหาเรื่องโรคอ้วนและเบาหวานได้ในระยะยาว
ทั้งนี้เป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการกับหนูทดลอง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ป้อนหนูที่ท้องด้วยอาหารแปรรูปที่มีไขมันในระดับสูงเพื่อจำลองสภาพที่คนท้องที่รับประทานอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด ซึ่งผลการทดลองพบว่าลูกของหนูทดลองมีระดับไขมันในกระแสเลือดในอวัยวะสำคัญๆ ในปริมาณที่สูงแม้จะโตจนผ่านพ้นวัยรุ่นมาแล้วก็ตาม
นอกจากนี้แล้วนักวิจัยยังพบด้วยว่าหนูทดลองที่เกิดจากแม่ที่ถูกป้อนด้วยอาหารไขมันสูงนั้นยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานสูงกว่าปกติอีกด้วยถึงแม้ว่าหลังจากคลอดแล้วจะให้รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจนโตก็ตาม
การวิจัยนี้เป็นผลงานร่วมกันของราชวิทยาลัยสัตวแพทย์และเวลคัม ทรัส ผลการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านสรีรวิทยา ชื่อ the journal of physiology ทั้งนี้ทีมนักวิจัยทีมนี้ได้เคยมีผลการวิจัยออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่าหนูทดลองที่เกิดจากแม่ที่รับประทานอาหารขยะในขณะตั้งท้องและให้นมลูกจะมีแนวโน้มอยากรับประทานอาหารประเภทเดียวกันกับที่แม่ของพวกมันรับประทาน
แต่สิ่งที่กลับกลายเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างมากจากการทดลองนี้คือผลเสียจากการรับประทานอาหารขยะต่อร่างกายของลูกหนูในท้องของแม่ที่กินอาหารไขมันสูงนั้นจะยังคงอยู่ไปเป็นเวลานานมาก ๆ และถึงแม้ว่าจะพยายามแก้ไข้ด้วยการเลือกให้กินอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพหลังคลอดไปแล้วก็ตาม
ดร.สตีฟานี เบยอล หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าวว่า “ดูเหมือนว่าการเลือกรับประทานอาหารของแม่ในขณะที่ตั้งท้องและให้นมลูกนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อสุขภาพของลูกในท้องในระยะยาว”
“เรามักจะพูดกันเสมอว่า คุณกินอะไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ แม่คุณกินอะไรคุณก็จะเป็นอย่างนั้นด้วย” ดร.เบยอลกล่าว
ที่สำคัญการก่อตัวของไขมันในบริเวณอวัยวะสำคัญ ๆ นั้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งเพราะนั่นคือสัญญาณของการเกิดโรคเบาหวานชนิด 2 และลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารไม่ดีจะมีแนวโน้มในการเป็นเบาหวานชนิดนี้สูงกว่า ทั้ง ๆ ที่พยายามกินอาหารเพื่อสุขภาพมาโดยตลอดตั้งแต่หลังคลอดออกมาแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดีนักวิจัยพบว่าผลของไขมันที่หนูในท้องได้รับจากแม่นั้นมีความแตกต่างกันระหว่างหนูตัวผู้และหนูตัวเมีย โดยหนูตัวผู้จะมีแนวโน้มความผิดปกติของระดับอินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือดที่น้อยกว่าลูกหนูตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่าลูกหนูตัวเมียจะอ้วนมากกว่าลูกหนูตัวผู้
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 02-07-51