‘กินผักผลไม้ปลอดภัย’ นโยบายที่สร้างกระแสใหม่ปีนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่เปลี่ยนไป กินผักและผลไม้น้อยลง ทำให้คนไทยเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดสมองตีบ มะเร็ง ฯลฯ องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้มีการบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม ถือเป็นปริมาณที่ลดความเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้ได้ การสร้างกระแสค่านิยมใหม่ในสังคมเป็นสิ่งสำคัญ
เช่นเดียวกับงานประชุมวิชาการกินผักผลไม้ปลอดภัย 400 กรัม เพื่อสุขภาพ จัดโดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำเสนอความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผักและผลไม้ ทั้งการผลิต ความปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้บริโภคผักผลไม้อย่างพอเพียง
ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็น "ปีแห่งการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัย" และผลักดันนโยบาย 6 เรื่อง คือ 1.ให้ทุกโรงพยาบาลซื้อผักและผลไม้ปลอดภัยจากสารเคมี 2. การจัดการผักผลไม้ให้ปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ 3.ดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังผักผลไม้ตลอด ห่วงโซ่ปี 2560 4.พัฒนาขีดความสามารถทาง ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันศัตรูพืช 5.โครงการวิจัยและพัฒนา 6.เผยแพร่วิธีลด การตกค้างของสารเคมี ป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สู่ประชาชน โดยดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับ สสส.ในการเชื่อมประสานเครือข่ายผู้ผลิต และสื่อสารองค์ความรู้ให้ผู้บริโภค และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องควบคุมและลดปริมาณการใช้สารเคมี เพื่อให้ประชาชนบริโภคผักและผลไม้อย่างปลอดภัยได้ตามเกณฑ์กำหนดในแต่ละวัน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. อธิบายถึงการขับเคลื่อนสนับสนุนการเพิ่มอัตราการบริโภคผักและผลไม้อย่างพอเพียงว่า จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4-5 ในปี 2556-2557 พบว่าประชาชนไทยบริโภคผักผลไม้อย่างพอเพียงมีแค่ 25.9% เท่านั้น ในการเพิ่มอัตราการบริโภคผักและผลไม้ สสส. ได้ส่งเสริม จุดประกาย พัฒนาต้นแบบสื่อสารรณรงค์ใน 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาองค์ความรู้ 2.วิเคราะห์ภาคีและสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อน 3.ร่วมผลักดันนโยบายและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อความยั่งยืน โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย "พัฒนาพื้นที่ต้นแบบส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย"
โดยมีพื้นที่ต้นแบบ ประกอบด้วย 1.เมืองเกษตรสีเขียวและอาหารปลอดภัย จ.เชียงราย 2.เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารชาติพันธุ์ 3.พื้นที่ต้นแบบความมั่นคงทางอาหาร จ.อุบลราชธานี 4.สามพรานโมเดล ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นธรรม 5.จันทบุรีโมเดล เกษตรอินทรีย์วิถีคนจันท์ 6.สงขลาโมเดล พื้นที่ต้นแบบแหล่งให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพ "โครงการเด็กไทยแก้มใส" มีโรงเรียนนำร่องกว่า 544 แห่ง ที่น้อมนำแนวทางการดำเนินงานและเจริญรอยตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างคุณภาพและทักษะชีวิตให้เด็กไทยมีสุขภาพแข็งแรง "ส่งเสริมการปลูกผักผลไม้เพื่อกินเอง" เช่น โครงการสวนผักคนเมือง ส่งเสริมการปลูกผักในครัวเรือน สวนผักในองค์กร มีการให้ความรู้ผู้บริโภคที่เข้าถึงได้ง่าย และเกิดเป็นกระแสค่านิยมใหม่ในสังคม
"การขับเคลื่อนการเพิ่มอัตราการบริโภคผักและผลไม้ที่ สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายนั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เช่น ยุทธศาสตร์รัฐบาล 20 ปี ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา สสส.รณรงค์ให้ประชาชนบริโภคผักและผลไม้วันละ 400 กรัม และจัดทำอินโฟกราฟฟิกและคลิปวิดีโอวิธีล้างผักช่วยลดสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง เพื่อสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและบริโภคผักผลไม้โดยปลอดภัย" ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
แม้ว่าผักผลไม้ในประเทศไทยจะมีหลากหลายชนิด แต่ประชาชนก็ยังคงกินผักผลไม้ที่ไม่หลากหลาย รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุลสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายผลสำรวจผักผลไม้ที่นิยมบริโภคในคนไทยว่า จากการศึกษาการบริโภคอาหารของประเทศไทยในปี พ.ศ.2557-2558 ดำเนินการโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสุ่มจังหวัด 4 จังหวัดจากแต่ละภาค รวมถึงกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด ทุกกลุ่มอายุ จำนวน 8,478 คน พบว่าผักที่นิยมเป็นอันดับแรกในทุกกลุ่มอายุ โดยไม่นับผักประเภทปรุงรสและแต่งกลิ่น คือ ผักกาดขาว/เขียว ถั่วฝักยาว แตงกวา กะหล่ำปลี และฟักทอง สำหรับผลไม้ที่นิยมในกลุ่มอายุ 15-59 ปี คือ แตงโม กล้วยน้ำว้า มะม่วงดิบ ฝรั่ง และสับปะรด ขณะที่กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป นิยมกล้วยน้ำว้า แตงโม มะละกอสุก มะม่วงสุก และสับปะรด ผลสำรวจข้างต้นนี้ พบว่าคนไทยยังกินผักผลไม้ที่ไม่หลากหลาย ร่างกายเราจะได้รับประโยชน์จากผักผลไม้อย่างสูงสุดต่อเมื่อบริโภคผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม โดยบริโภคผักหลากสีและผลไม้ที่หลากหลายก็จะได้สารอาหาร สารพฤกษเคมีอย่างครบถ้วน
การบริโภคผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม ควรกินผักผลไม้ปลอดภัย ตามฤดูกาล หลากสีและหลากหลายชนิด ทำให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์หรือใยอาหารที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายขับของเสียออกจากร่างกายอย่างง่ายดาย และทำให้เราห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง