กินผักปลูกสุขเสริมพลังสุขภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ถ้าเรารักตัวเอง อยากมีสุขภาพดี ชีวิตมีสุข ก็ทำให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตตัวเองด้วยการใส่ใจ การบริโภค"
ภายใต้โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.ให้การสนับสนุน และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการบริโภคผักและผลไม้อย่างถูกวิธี และบริโภคอย่างปลอดภัย มีบุคคลต้นแบบจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเริ่มหันมาบริโภคผักตามโครงการนี้
โดยเฉพาะจากการรวมตัวครั้งสำคัญของ "คนกินผัก" ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งได้จัดกิจกรรม "กินผัก สร้างสุข กับบุคคลต้นแบบ" เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคผักและผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม และตั้งเป้าจากกลุ่มประชากร ที่สามารถทำได้สำเร็จร้อยละ 25.9 ให้เป็นร้อยละ 50 ให้ได้ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป้าหมาย ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่จากการจัดกิจกรรม และให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อพบว่า คนไทยหันมาบริโภคผัดและ ผลไม้กันมากขึ้น ตามกระแสสุขภาพนิยม
"อาหาร เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ แต่การปฏิบัติตนเกี่ยวกับเรื่องการบริโภคอาหาร เป็นสิ่งที่ท้าทายคนไทย หรือกระทั่งคนทั่วโลกอยู่มาก อันที่จริง คนไทยเรารับประทานผักผลไม้กันเยอะอยู่แล้วตั้งแต่อดีต แต่ปรากฏว่าจากค่านิยมการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ช่วงหลายสิบปี ที่ผ่านมา คนไทยก็บริโภคผักและผลไม้ลดลง เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีเพียง 17% เท่านั้นที่สามารถบริโภคผักผลไม้ได้วันละ 400 กรัม" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
สสส. จึงวางแนวทางในการให้การสนับสนุนไปยังสถานประกอบการ เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจ และสนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผักและผลไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน และประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของการบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณที่พอเพียง จัดตลาดนัดหมุนเวียน ส่งเสริมการปลูกผัก และจัดเมนูสุขภาพสำหรับพนักงาน เป็นต้น
"ทาง สสส.เองต้องให้ทั้งความรู้ และฝึกปฏิบัติและจะต้องบอกในเชิงเทคนิคว่า การกินผักให้ได้ 400 กรัมต้องทำอย่างไร ประชาชนจะได้กะปริมาณในการบริโภคได้ และทำไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมเราจึงเริ่มต้นทำงานกับองค์กรต้นแบบ 33 แห่งแล้วเลือกไอดอล คนเก่งที่สามารถกินผักวันละ 400 กรัมได้ครบ 21 วัน คนกลุ่มนี้ไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแค่ตัวเอง แต่ผลดีเกิดขึ้นกับคนรอบตัวด้วย เป็นก้าวเริ่มต้นที่ดีที่จะขยายผลต่อไปได้" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริม วิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าว
โครงการ "กินผัก สร้างสุข" เกิดขึ้นในหลากหลายองค์กรทั่วประเทศ และคนที่สนใจเข้าร่วมโครงการด้วยการปฏิวัติวิถีการบริโภคของตัวเองสู่แนวทางสีเขียวได้พิสูจน์แล้วว่า การลุกขึ้นมารับประทานผักและผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัมนั้น สามารถเปลี่ยนชีวิต และทำให้สุขภาพดียิ่งขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยมีบุคคลต้นแบบ จากโครงการกินผักและผลไม้ดี 400 กรัม มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เอาไว้บนเวทีกินผัก สร้างสุข เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
วรรณกานต์ มหาจงเลิศ พนักงาน จากกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ให้คำนิยามชีวิต เอาไว้ง่ายๆ ว่า "คนเก่งแพ้คนที่มีโอกาส แล้ววันนี้คุณให้โอกาสร่างกายของคุณหรือยัง" โดยเธอเล่าให้ฟังว่าการเข้าร่วมโครงการกินผัก และผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัมของเธอนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ร่างกายได้สัมผัสกับประสบการณ์ในการรับประทานแบบใหม่ด้วยการรับประทานอย่างถูกวิธี และปลอดภัย ผลพลอยได้คือคนรอบข้างก็หันมารับประทานผักและผลไม้ได้มากขึ้นตามด้วย
"ในอดีตเราก็เป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง เริ่มจากการชอบกินผักผลไม้ กินไปก็ไม่เคย ศึกษาว่าต้องกินเท่าไหร่ แต่พอเข้าร่วมโครงการนี้ มากินอย่างถูกวิธี ถูกปริมาณ และรู้ว่ามันจะเกิดประโยชน์ รู้แหล่งที่มาของผักผลไม้ และจะกินอย่างไร มันยอดมาก ร่างกายและสุขภาพดีขึ้นมาก ที่สำคัญ ได้มิตรภาพ และได้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันอีกมากเลยทีเดียวค่ะ"
เช่นเดียวกับ แก้ว-รัชนี ฤกษ์สุขกาย จากกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ เล่าให้ฟังว่า ปกติเธอเป็นคนรับประทานผัก และผลไม้ต่อวันมากอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ผักใบเขียว และเธอยังสามารถรับประทานผลไม้ได้วันหนึ่งเป็นกิโลฯ แต่ไม่เคยรู้ว่าจะรับประทานอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"หลังจากเข้าร่วมโครงการถึงได้รู้ว่า เราจะต้องกินผักให้หลากหลายทั้งผักใบ ผักหัว และกินให้ครบ 5 สี เสริมด้วยผลไม้ เพื่อให้ได้ผักและผลไม้รวมกันวันละ 400 กรัม เราจึงรู้จักรับประทานในปริมาณที่ถูกต้อง และสมดุลมากขึ้น เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน" เธอกล่าว
บุคคลต้นแบบอีกคนหนึ่ง ที่สามารถเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บได้ จากการเปลี่ยนวิถีการบริโภคของเธอมาสู่เส้นทางสีเขียว คือ อารีย์ มะลอย จากบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด ผู้หญิงคนนี้เคยตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ตัวเองไม่มีเสียง พูดไม่ได้ โดยไม่รู้สาเหตุ
"ตอนนั้นมันเป็นความทรมานมาก คือเราสื่อสารไม่ได้เลย เสียงมันหายไปเฉยๆ เลยค่ะ ไปพบคุณหมอก็หาสาเหตุไม่เจอ ก็มาเจอเคล็ดลับว่า ให้ทานผลไม้สามวัน และงดแป้งไปเลย เราก็ลองทำดู ปรากฏว่า เสียงก็ค่อยๆ กลับคืนมา หลังจากมาเจอโครงการรับประทานผักให้ได้ 21 วันของ สสส. ก็ตัดสินใจลองทำดู ร่างกายก็ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่ามหัศจรรย์
ดิฉันก็อยากลองของว่า แล้วถ้าหยุดกินผัก กลับไปกินแป้งเหมือนเดิมอีก จะเป็นยังไงก็คือ กลับไปเสียงหายอีก ทีนี้เราก็รู้แล้วว่า ร่างกายของเราต้องการอะไร เลยบอกตัวเองว่า ถ้าเรารักตัวเอง อยากมีสุขภาพดี ชีวิตมีสุข ก็ทำให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตตัวเองด้วยการใส่ใจการบริโภค การกินผักและผลไม้ที่ดีทำให้เราห่างไกลจากสารเคมี และถ้าเรากินอย่างมีวินัยมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก กินผักดีนะคะ กินแล้วถ่ายสบาย เสียงที่แหบหายไปก็กลับมา"
วิภาจรี เจริญวงษ์ พนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด มหาชน สาวออฟฟิศ ที่ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับอาหารถุง และอาหารในร้านตามสั่ง ก็สามารถปฏิวัติวิถีการบริโภคของเธอสู่การรับประทานผัก และผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัมได้ไม่ยาก
"เริ่มจาก แม่ค้าทำอะไรมาก็ขอเพิ่มผักลงไปด้วย จนกลายเป็นติดว่า แม่ค้ารู้ว่าถ้าคนนี้มาซื้อก็เพิ่มผักให้ด้วย และจากที่เราซื้อข้างนอกตลอด ก็กลายเป็นว่า อยากจะทำกับข้าวทานเองมากขึ้น จะได้เลือกผักและ ผลไม้เองที่หลากหลาย มาทำอาหารรับประทานง่ายๆ คือมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปเดินเลือกซื้อ ของที่มีประโยชน์ เอามาทำอาหารเอง ชิมฝีมือตัวเองไปด้วยค่ะ" เธอกล่าว
ทางด้าน ยุ้ย-อรุนันท์ แถมมนตรี จากสำนักงานศาลยุติธรรม ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีปัญหาสุขภาพ จากอาการภูมิแพ้ ก็สามารถบำบัดความทรมานจากโรคประจำตัวให้ดีขึ้นได้จากการเปลี่ยนมารับประทาน ผัก และ ผลไม้
"จากการที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ได้ความรู้หลายๆ อย่าง เรารู้แล้วว่า สุขภาพที่ดีควรมาจากข้างในร่างกาย จากที่เคยขี้โรค ป่วยบ่อย พอเราหันมากินผัก ผลไม้ ระวังตัวมากขึ้น ก็ป่วยน้อยลง เวลามาทำงานก็จัดเตรียมอาหารมากล่องใหญ่ ถ้าเวลาน้อยก็ทำกล่องเล็กๆ มา โภชนาการของเราดีขึ้น สุขภาพของเราก็ดีตาม เดี๋ยวนี้ไม่ป่วยง่ายๆ และป่วยบ่อยๆ อีกแล้วค่ะ"
จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ หัวหน้าโครงการสร้างเสริมสุขภาพวัยทำงานด้วย การบริโภคผัก ผลไม้ 400 กรัม กล่าวเสริมว่า นอกจากจะลงพื้นที่จัดกิจกรรมกับบริษัท และ องค์กรต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ทางกลุ่มโครงการยังร่วมกับองค์กรภาครัฐ และ เอกชน 6 แห่ง จัดกิจกรรมเสริมคู่ขนานไปด้วยกัน นั่นคือโครงการ Design My Plate โดยมี พนักงานสนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทั้งหมด 777 คน มีการทดลองชั่งผัก ผลไม้เพื่อให้รู้จัก ประเมินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน รู้จักวิธี ล้างผักเพื่อลดสารเคมีตกค้าง และจัดจำหน่ายผักและผลไม้ปลอดสารในงาน รวมถึงการตรวจวัดปริมาณสารเคมีตกค้างในเลือด โดยกลุ่มเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทำให้บรรยากาศของการเดินสายบอกเล่า เก้าสิบ เรื่องของการรับประทานผัก และ ผลไม้ เป็นไปอย่างสนุกสนาน และได้ความรู้
ผลที่ได้ก็คือกลุ่มนำร่องผู้เดินหน้าปฏิวัติวิถีการบริโภคของตัวเองอย่างจริงจัง และเมื่อประสบความสำเร็จ คนกลุ่มนี้ก็จะเป็น กระบอกเสียงที่ดีในการบอกต่อ และชักชวนเพื่อนรอบข้าง ให้หันมาบริโภคผัก และผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัมอย่างถูกวิธีด้วย
"คนที่กินผัก และผลไม้ได้ไม่น้อยกว่าวันละ 400 กรัมเป็นประจำทุกวัน หากเทียบกับคนที่บริโภคผัก และ ผลไม้ในปริมาณที่น้อยกว่า จะลดความเสี่ยงจากโรคร้าย และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้ อย่างเช่น ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งได้ถึง 50% ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 30% ลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ 6% ตัวเลขเหล่านี้ มาจากงานวิจัยของสถาบันโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล และจากประสบการณ์ตรงของบุคคลต้นแบบของเราในวันนี้ เราก็คาดหวังว่า ประเทศไทยจะทำได้ตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกวางไว้ ว่าเราจะทำให้คนไทยหันมาบริโภค ผัก และ ผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าค่ะ" หัวหน้าโครงการสร้างเสริมสุขภาพวัยทำงาน กล่าวสรุป