กิน“ปลาร้าดิบ”บ่อยเสี่ยงโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

“ปลาร้าดิบ”เสี่ยงโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง thaihealth


“สธ.” พบโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือโรคเหน็บชา ในกลุ่มนักโทษเกือบร้อยราย คาดเกิดจากกินแต่ข้าวขาว หรือปลาร้าดิบบ่อยเกินไป ชี้เป็นอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1


นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการประชุม DDC Forum เรื่อง"โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการขาดวิตามินบี1"ว่า ในช่วงเดือน ธ.ค.57 พบรายงานผู้ป่วยอาการแขนขาอ่อนแรง ชาตามปลายมือ ปลายเท้า และชาตามร่างกาย 78 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 รายแต่วินิจฉัยพบว่า เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในเรือนจำแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการขาดวิตามินบี 1 หรือภาวะเป็นโรคเหน็บชา โดยเกิดอาการหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่นับเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญมากปัจจัยหนึ่งในการทำให้ผู้ที่มีภาวะปริ่มๆ ขาดวิตามินบี 1 กลายเป็นการขาดวิตามินบี 1 จนแสดงอาการออกมา


นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการขาดวิตามินบี 1 หรือภาวะเป็นโรคเหน็บชา ส่วนใหญ่มักมีอาการอ่อนแรงและชา ที่แขนและขา ปลายมือ ปลายเท้า บวม แดง ส่วนการขาดวิตามินบี 1 เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินไม่เพียงพอ เช่น การรับประทานแต่ข้าวขาวที่ผ่านการขัดสี หรืออาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 ได้แก่ ปลาน้ำจืดดิบ หอยลายดิบ ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาส้มดิบ แหนมดิบ เป็นต้น กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ดื่มสุราประจำ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์/ให้นมบุตร เด็กวัยเจริญเติบโต ผู้ที่รับประทานอาหารที่ไม่มีวิตามินบี 1 ผู้ต้องขังในเรือนจำ และชาวประมงที่ออกทะเลนานๆ


 “ในการป้องกันโรคประชาชนควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และหลากหลาย ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองและถั่วเมล็ดแห้ง รวมทั้งผักใบเขียว  ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีตัวทำลายวิตาบินบี 1 หากต้องการรับประทานควรปรุงด้วยความร้อนจนสุก ส่วนในโรงเรียน เรือนจำ สถานกักกัน และสถานรับเลี้ยงเด็ก คนชรา ควรจัดหาข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือให้รับประทาน ปรับรายการอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย สด ใหม่ หากเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อในสถานที่ดังกล่าว ควรแจ้งสำนักงานสาธารณสุขในการสอบสวนโรค และควรมีแผนการคัดกรองภาวะโภชนาการ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี” นพ.โสภณ กล่าว


ด้านศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวรพ.จุฬาฯ ได้ร่วมตรวจสอบว่าเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ เนื่องจากหากเกิดจากการติดเชื้อกังวลว่าจะมีการะบาดออกเป็นวงกว้าง โดยตรวจสอบไวรัสใน 9 กลุ่มครอบครัวจำนวนหลายร้อยตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคทางสมองและไขสันหลังอักเสบ พบว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เมื่อมีการสอบสวนโรคพบว่าเกิดจากภาวะขาดวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการทางสมองได้ เช่น ซึม ตาเห็นภาพซ้อน หรือเดินเซ หากรักษาไม่ทันท่วงทีเมื่อหายแล้วจะมีความจำเสื่อม


 “โรคภาวะขาดวิตามินบี 1 หรือโรคเหน็บชา อาจถือได้ว่าเป็นโรคที่หายสาบสูญไปจากประเทศไทยแล้ว จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องถอดวิตามินบีรวมออกจากหลักประกันสุขภาพ แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยอีก ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโรคนี้จะพบในคนที่ผอมแห้งแรงน้อย แต่แท้จริงคนปกติทั่วไปก็ป่วยโรคนี้ได้ จากพฤติกรรมการกินที่จะขาดวิตามินบี 1 ทั้งการกินแต่ข้าวขาว อาหารขยะต่างๆ หรืออาหารบางชนิดที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 โดยที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเป็นนักกีฬาหรือผู้ใช้แรงงานที่มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เพราะกินข้าวขาวอย่างเดียวปริมาณมาก ซึ่งไม่มีวิตามินบี 1 ก็เกิดภาวะพร่องวิตามินบี 1 ทันทีทันใดได้ จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของคนไทย และควรเสนอให้การกินข้าวกล้องเป็นวาระแห่งชาติ”ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว


นพ.กมล แซ่งปึง แพทย์โรงพยาบาลบึงกาฬ กล่าวว่า หลังจากเกิดกรณีผู้ป่วยดังกล่าว รพ.บึงกาฬได้ลงพื้นที่เพิ่มเติม โดยดำเนินการตรวจผู้ต้องขังที่ป่วย ผู้ต้องขังในเรื่องจำเดียวกันที่ไม่ได้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ พบว่า มีภาวะขาดวิตามินบี 1 เช่นกัน จึงคาดว่าคนในพื้นที่อาจจะมีภาวะนี้อยู่เดิม จากนี้เตรียมที่จะเก็บข้อมูลคนในพื้นที่เพื่อให้ทราบว่ามีภาวะขาดวิตามินบี 1 หรือไม่ โดยจะเก็บข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่กินปลาร้าดิบ ปลาร้าสุกและผู้ที่ไม่กินปลาร้า เนื่องจากมีสมมติฐานว่า ปลาร้าอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 1 เนื่องจาก ปลาร้ามีสารที่ทำลายวิตามินบี 1


 


ที่มา : เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ