กิจกรรมเคลื่อนไหวพัฒนา ‘ไอคิว-อีคิวเด็ก’
ที่มา : หนังสือคนไทย ไกลทุกข์ จากโครงการหนังสือสร้างสุข
โดย: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แฟ้มภาพ
การเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวพื้นฐานด้วยการเดิน วิ่ง กระโดด หรืออาจจะโลดโผนขึ้นมาหน่อย เช่น หกคะเมน ตีลังกา ปีนป่าย ห้อยโหน ล้วนมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้กล้ามเนื้อต่างๆ ทำงานประสานกันอย่างกลมกลืน
การเคลื่อนไหวพื้นฐานจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและระดับ “ไอคิว” เนื่องจากทักษะการเคลื่อนไหวของร่างกายมีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้ของสมอง ยิ่งเคลื่อนไหวมากก็ยิ่งเกิดการเรียนรู้มาก ในขณะเดียวกันยังทำให้เด็กกล้าแสดงออกสร้างความมั่นใจและบุคลิกภาพที่ดีให้แก่เด็ก จึงส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมหรือ “อีคิว” ที่เหมาะสม และถ้าหากเปิดโอกาสให้เด็กคิดค้นการเคลื่อนไหวอย่างอิสระก็จะสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กให้สูงขึ้นได้ นอกจากนี้การเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลงและดนตรียังแสดงถึงจินตนาการของเด็กแต่ละคน ซึ่งสามารถชี้ให้เห็นว่า สมองของเด็กพัฒนาไปเพียงใดและมีความผิดปกติของสมองเกิดขึ้นหรือไม่
ด้วยเหตุผลนี้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูจึงควรช่วยเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยด้วยการฝึกฝนการเคลื่อนไหวในท่วงท่าต่างๆ ตามวิธีการที่ถูกต้อง อาจใช้เสียงดนตรี การตบมือ การเคาะไม้ หรืออุปกรณ์อื่นๆ เข้ามากำหนดจังหวะ เพื่อให้เด็กเคลื่อนไหวตามเกิดความคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ลดความกังวล และมีสมาธิดีขึ้น
ตัวอย่างรูปแบบของการเคลื่อนไหว ได้แก่
1.การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ แบ่งเป็นการเคลื่อนไหวอยู่กับที่ เช่น ตบมือ ผงกศีรษะ ขยิบตา ชันเข่า เคลื่อนไหวมือ นิ้ว เท้า ปลายเท้า และการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ เช่น คลาน วิ่ง กระโดด ควบม้า
2.การเคลื่อนไหวเลียนแบบ เช่น การเลียนแบบท่าทางสัตว์ ท่าทางคน การเลียนแบบเครื่องยนต์กลไก และการเลียนแบบปรากฏการณ์ธรรมชาติ
3.การเคลื่อนไหวหรือทำท่าทางกายภาพบริหารประกอบเพลง
4.การเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้เด็กคิดท่าทางด้วยตนเอง อาจะใช้แถบผ้า ริบบิ้น หรืออุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาประกอบการเคลื่อนไหว
5.การแสดงท่าทางตามคำบรรยาย โดยให้เด็กคิด จินตนาการและแสดงท่าทางต่างๆ ออกมาเมื่อได้ฟังคำบรรยายหรือเรื่องราว