กิจกรรมทางกายสำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

ที่มา : คู่มือ ข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ สำหรับผู้ใหญ่ (18 – 59 ปี) โดย กรมอนามัย และสสส.


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


กิจกรรมทางกายสำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง thaihealth


ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง (มากกว่า 140/90 mmHg) ควรมีกิจกรรมทางกาย อย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความดันโลหิต (2-10 mmHg) และควบคุมไม่ให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากหัวใจจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความดันโลหิต


เนื่องจากค่าความต้านทานการไหลของเลือด (Total peripheral resistance) จะลดลงระดับโปรตีนแอนโดรีดิน (Endothelin) เป็นโปรตีนที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวจะลดลง และระดับไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide) ที่ช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัวจะเพิ่มขึ้น อันส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลง


ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรมีกิจกรรมทางกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็กในการเคลื่อนไหว


– เน้นกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่น เดิน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ๆ เต้นแอโรบิค ปั่นจักรยาน รำมวยจีน เป็นต้น


– ไม่ควรมีกิจกรรมทางกายในรูปแบบที่หนัก หรือกิจกรรมที่ความหนักมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจาก จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นในระดับที่อันตรายได้


– ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางแบบต่อเนื่อง หรือสะสมครั้งละ 10 นาที วันละอย่างน้อย 30 นาที ทุกวัน หรืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์


นอกจากนี้ ควรมีการลดอาหารเค็มร่วมด้วย โดยควรวัดความดันโลหิตพื้นฐาน และประเมินสภาพความพร้อมของ ร่างกายก่อนมีกิจกรรมทางกาย

Shares:
QR Code :
QR Code