กิจกรรมทางกายทุกวัย รากฐานสำคัญของชีวิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
ปัจจุบันสภาพการทำงานและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนทั่วโลกมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง อยู่ในท่านั่ง ท่านอน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ของเด็กและเยาวชนก็มีพฤติกรรมจมตัวเองและหมกหมุ่นกับโลกโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้คนทุกวัยมีความเสี่ยงในปัญหาสุขภาพ ที่เป็นบ่อเกิดของกลุ่มโรคร้าย Non-Communicable Diseases (NCDs) หรือโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ที่คร่าชีวิตคนบนโลกนี้ไปมากที่สุด
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจที่ สสส.ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า เด็กไทยมีกิจกรรมทางกายลดจาก 67.6% ในปี 2555 เป็น 63.2% ในปี 2557 ข้อมูลนี้สะท้อนว่า เด็กไทยมีแนวโน้มออกกำลังกายน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับปัญหาโรคอ้วน ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนเด็กอ้วนถึงประมาณ 12% หรือเด็ก 100 คนจะมีเด็กอ้วน 12 คน
โดยสาเหตุหลักๆ เกิดจากการที่สังคมเปลี่ยนแปลงจากสภาพสังคม เพราะเด็กๆ ไม่ค่อยออกมาเล่น แต่ชอบดูทีวี เล่นโซเชียลฯ โดยใช้เวลาอยู่หน้าจอเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมงต่อวัน จึงนับเป็นความท้าทายที่เราจะชวนเด็กๆ ให้ออกจากหน้าจอ แล้วหันมาออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ เป็นต้น หรือกิจกรรมทางกาย ที่ สสส.ให้การสนับสนุน คือเล่นกรีฑา ถือเป็นหนึ่งในกีฬาที่เล่นได้ง่ายที่สุด แทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ และยังได้ประโยชน์มากมาย และถูกออกแบบให้มีการเคลื่อนไหวหลายรูปแบบ มีทั้งการวิ่ง การกระโดด การทุ่มขว้าง ปา ม้วน กลิ้ง การวิ่งข้ามสิ่งกีดขวาง การวิ่งทางไกล โดยจัดให้มีรูปแบบของการแข่งขันแบบง่ายๆ แต่มีความดึงดูดใจ สนุกสนาน เหมาะกับวุฒิภาวะและความเจริญเติบโตของเด็ก
"มีการศึกษาวิจัยว่ากรีฑาสำหรับเด็กช่วยพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม อาทิ เสริมสร้างสมรรถภาพทางด้านร่างกาย เชื่อมั่นในตัวเอง กล้าตัดสินใจ มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัย มีระเบียบวินัย ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ดีขึ้น และเป็นค่านิยมติดตัวเขาไปในอนาคต"
ขณะที่สถานการณ์กิจกรรมทางกายของผู้ใหญ่ก็น่าเป็นกังวลไม่แพ้กัน นพ.ไพโรจน์บอกว่า คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งไม่รวมการนอนหลับ วันละ 14 ชั่วโมง ซึ่งพฤติกรรมไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายเหล่านี้ ส่งผลร้ายต่อระบบการทำงานของร่างกาย ตั้งแต่การทำงานในระดับเซลล์ เช่น การหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลเสียไป การเผาผลาญน้ำตาล ไขมัน และพลังงานของร่างกายลดลง นำไปสู่โรคหัวใจ หลอดเลือด และสมอง ที่เป็นวิกฤติสุขภาพของชาวไทย
"คนไทยควรมีพฤติกรรมเนือยนิ่งให้น้อยที่สุด โดยควรจะต้องลุกยืน เดินไปดื่มน้ำหรือเข้าห้องน้ำ หลังจากนั่งเก้าอี้ทำงานทุก 1 ชั่วโมง หรือการยืนทำงาน เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินหรือปั่นจักรยานมาทำงาน หรือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน แทนรถส่วนตัว หรือจอดรถให้ไกลจากอาคารมากขึ้น เป็นต้น เพื่อจะได้มีการเดินมากขึ้น" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางสำหรับผู้ที่ต้องนั่งประชุมทั้งวัน ควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมเป็นลุกขึ้นยืนและเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การประชุมวิชาการนานาชาติในปัจจุบัน มีการจัดรูปแบบการยืนประชุม โดยจัดเก้าอี้ให้น้อยลง และมีโต๊ะยืนให้ บริเวณด้านข้างและหลังห้องประชุม ยังมีการลุกยืนปรบมือให้กับวิทยากรเมื่อบรรยายเสร็จสิ้น
แม้กระทั่งการประชุมคู่ขนานในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกขององค์การอนามัยโลกครั้งล่าสุด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากทั่วทั้งโลกเข้าร่วม ก็มีการลุกยืนปรบมือ หลังผู้แทนแต่ละประเทศนำเสนอเสร็จ ซึ่งเท่ากับว่าผู้เข้าร่วมประชุมต้องลุกยืนทุก 5 นาที ตลอดระยะเวลาการประชุม 90 นาที แสดงให้เห็นว่าการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งสามารถทำได้ง่าย
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า นอกจากการออกกำลังกาย และอีกความสำคัญคือใส่ใจเรื่องอาหารในการรับประทานในแต่ละวัน โดยแบ่งเป็น 2 ประการ คือประการแรก "อาหารที่ไม่ปนเปื้อน" หมายถึง กินเข้าไปแล้วมีประโยชน์และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งการปนเปื้อนก็มีอยู่ 3 ทางด้วยกัน ได้แก่ ข้อ 1 "ปนเปื้อนเชื้อโรค" มีเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปปะปนในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ไม่สุก อาหารที่ค้างคืน มีแมลงวันตอม ปรุงไม่สะอาด ก็นำมาซึ่งอาการท้องเดินได้ ข้อ 2 "ปนเปื้อนจากพยาธิ" เช่น การกินอาหารที่สุกๆ ดิบๆ การกินอาหารที่ไม่ระมัดระวังเรื่องความสะอาด ก็มีการปนเปื้อนพยาธิได้ และสุดท้าย ข้อ 3 "ปนเปื้อนสารเคมี" เช่น กินผักที่ไม่ได้ล้างหรือล้างไม่สะอาด มียาฆ่าแมลงปะปนอยู่ อาหารที่ใส่สีแต่ไม่ใช่สีผสมอาหาร อาหารที่มีพิษ เช่น เห็ดพิษ น้ำมันทอดซ้ำ ถั่วลิสงที่มีอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เป็นต้น
ประการที่สอง คือ "อาหารที่ถูกหลักโภชนาการ" หรือกินให้ครบ 5 หมู่ ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ มีโปรตีน, หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง คาร์โบไฮเดรต, หมู่ที่ 3 เกลือแร่และแร่ธาตุ, หมู่ที่ 4 ผักผลไม้ที่มีวิตามิน และหมู่ที่ 5 ไขมัน และต้องกินให้ได้สัดส่วน ปริมาณที่เพียงพอ ไม่มากน้อยจนเกินไป รวมถึงมีความหลากหลาย เลี่ยงอาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด สุดท้ายกินผักผลไม้ให้มากขึ้น
การดูแลสุขภาพให้ดี ห่างไกลกลุ่มโรค NCDs นอกเหนือจากการเพิ่มกิจกรรมทางกายที่ถือเป็นรากฐานของชีวิตที่ต้องทำเป็นประจำแล้ว คนทุกวัยก็ควรใส่ใจอาหารการกินและอารมณ์ให้ดีตลอดเวลา พร้อมห่างไกลสุราและบุหรี่ หรือเพียงยึดหลัก 3 อ. 2 ส. ก็เชื่อว่าทุกคนจะมีอายุยืนยาวได้ไม่ยาก