กำชับ ‘มาตรการ 3-3-1’ คุมไข้เลือดออกระบาด

รมว.สธ.กำชับทุกจังหวัด เข้มข้นการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก ใช้มาตรการ 3-3-1 รายงานโรคหลังพบผู้ป่วย 3 ชม., ส่ง อสม.กำจัดยุงใน 3 ชม. และลงควบคุมโรคภายใน 1 วัน

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.56 นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการป้องกันควบคุมไข้เลือดออก ภายหลังประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการต่างๆ ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างเต็มรูปแบบและเต็มที่ โดยในระยะนี้จะเร่งรัดประสิทธิภาพการทำงานของพื้นที่

โดยเฉพาะในจุดที่วอร์รูมไข้เลือดออกส่วนกลาง ได้วิเคราะห์ปัญหาสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เพื่อให้ผู้บริหารในจังหวัดติดตามแก้ไขให้ตรงจุด เน้นควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดเพิ่มในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก โดยใช้มาตรการ 3-3-1 คือ หลังโรงพยาบาลพบผู้ป่วย ให้รายงานโรคให้หน่วยควบคุมโรคของพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง และให้หน่วยควบคุมโรคกำชับให้ อสม.ลงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่บ้าน ชุมชนผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง และส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือเอสอาร์อาร์ที ลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วัน เพื่อจำกัดวงแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น โดยมีต้นแบบที่จังหวัดนครพนมนำมาใช้ ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือพื้นที่พิเศษ ที่โรงเรียน โรงพยาบาล ผลสำรวจล่าสุดพบมีโรงเรียนร้อยละ 45 และโรงพยาบาลร้อยละ 29 ยังมีลูกน้ำยุงลาย ได้กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ลดจำนวนยุงลาย ซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง หากทุกภาคส่วน ทั้งที่บ้าน โรงเรียน วัด ศาสนสถาน ที่ทำงาน ร่วมมือกัน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มั่นใจว่าจะลดจำนวนการป่วยของประชาชนได้อย่างแน่นอน

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานวอร์รูมไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในรอบสัปดาห์วันที่ 9-16 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 6,000 กว่าราย เสียชีวิต 2 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่เพิ่มขึ้น 8,000 กว่าราย แนวโน้มเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น การระบาดชะลอตัวช้าลง จะต้องรักษาระดับความเข้มข้นในการป้องกันและควบคุมโรคต่อเนื่องไปอีกทุกพื้นที่ เนื่องจากยุงลายบินได้ไกลในรัศมี 50-100 เมตร จากแหล่งที่อยู่ ต้องทำลายลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน อย่าให้ยุงเกิด

ทั้งนี้ ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 กรกฎาคม 2556 มีผู้ป่วยรวม 73,902 ราย เสียชีวิต 73 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ กทม. สงขลา เชียงราย นครราชสีมา นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และนครพนม ที่น่าห่วงคือ ในกลุ่มผู้เสียชีวิต 2 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นวัยทำงาน อายุ 36-37 ปี เป็นชาย 1 ราย หญิง 1 ราย จึงขอย้ำเตือนประชาชนในช่วงนี้ หากป่วยเป็นไข้สูงลอย กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด หน้าแดง ปวดศีรษะมาก หากอาการไข้ไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน อย่านิ่งนอนใจ ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจรักษาโดยละเอียดต่อไป

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code