การใช้เวลาหน้าจอมากไป ส่งผลกระทบกับเด็กอย่างไร
ที่มา : สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)
แฟ้มภาพ
การใช้เวลาหน้าจอส่งผลกระทบหลายด้านต่อสุขภาพเด็ก ผลการศึกษาและการวิจัยพบว่า การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ส่งผลเสียต่อพัฒนาการในวัยเด็ก สุขภาพร่างกาย และจิตวิทยาทางสังคมของเด็ก
1. พัฒนาการแรกเริ่มของเด็ก
ลูกพูดช้า เด็กก่อนวัยเรียนที่ไม่ได้เล่นของเล่นแบบสร้างสรรค์ และคุ้นชินกับกิจกรรมบนหน้าจอมากไป จะมีปัญหาพัฒนาการทางภาษาช้าลงอย่างเห็นได้ชัด
อุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ทำให้เด็กขาดพัฒนาการด้านการสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ เด็กก่อนวัยเรียนที่ดูหน้าจอมากเกินไปกว่าการเล่นตามปกติ มีแนวโน้มการมีพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์น้อยลง
2. ด้านร่างกาย
สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง เด็กที่ดูหน้าจอมากเกินไปในช่วงปีแรก ๆ ของวัยเด็ก จะมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน เนื่องจาก ตาดู ปากกิน ร่างกายนอน ไม่มีการขยับตัว จึงเสี่ยงโรคอ้วนได้ง่าย
กระทบการเรียน การใช้เวลาหน้าจอ 4 ชั่วโมงต่อวัน อาจส่งผลเสียต่อการเรียนของเด็กและยังส่งผลกระทบด้านกายภาพตามมา เช่น ความเมื่อล้าของนิ้ว คอ หลัง และข้อมือ นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา
นอนหลับไม่สนิท การใช้หน้าจอมากไปส่งผลให้คุณภาพการนอนแย่ลง นอนหลับไม่เต็มที่ และหลับไม่สนิท ส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก
3. จิตวิทยาทางสังคมของเด็ก
ขาดความสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัวน้อยลง หากปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังกับโลกดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เด็กจะมีปัญหาการแยกตัวออกจากสังคม
พฤติกรรมก้าวร้าว มีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว เหตุจากไม่ได้ดั่งใจ หรือโดนขัดใจ