การใช้สิทธิ CL สู้ต่อไปเพื่อคนไทยเข้าถึงยา

ทุกฝ่ายร่วมใจปกป้องสิทธิสุขภาพอย่างแข็งขัน

 

 การใช้สิทธิ CL สู้ต่อไปเพื่อคนไทยเข้าถึงยา

          การประกาศเลื่อนระดับสถานะคู่ค้าของประเทศไทย โดยสหรัฐอเมริกาจากประเทศที่ต้องถูกจับตามอง (WL) เป็นประเภทที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ประกอบกับเหตุผลในการเลื่อนระดับเป็นการแสดงออกที่มีลักษณะเชิงรุก 3 ประการคือ

 

          หนึ่ง สหรัฐต้องการแสดงว่ามีฐานะในการเจรจาที่เหนือกว่า

 

          สอง เป็นการเตือนให้หยุดการทำสิ่งต่างๆ ที่สหรัฐไม่พอใจ

 

          สาม สหรัฐต้องการที่จะนำข้อเสนอที่ยังไม่ได้รับการปฏิบัติมารุกต่อ ในการเจรจาต่อรองในการจัดทำแผนปฏิบัติการระหว่างไทย-สหรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

          แม้จะมีหลายฝ่ายกังวลต่อท่าทีดังกล่าว แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ในระยะหลังๆ การดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิ สุขภาพของประชาชนในการเข้าถึงยา ภาคส่วนต่างๆ มีความเข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

 

          สิ่งที่เห็นชัดคือ ความตื่นตัวของผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (ประเทศไทย) ที่ได้เรียกร้องสิทธิสุขภาพ และสนับสนุนการใช้สิทธิ (CL) อย่างแข็งขัน

 

          ในขณะที่ฐานะของประเทศไทยในเวทีโลกสูงขึ้นจากบทบาทผู้นำในการใช้สิทธิ CL สหรัฐในฐานะคู่การค้าย่อมเห็นว่า ภาวะดังกล่าวเป็นภาวะคุกคาม โดยเห็นว่า หากไทยได้ประโยชน์แล้ว ตนเองจะเสียประโยชน์

 

          ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงผู้ป่วยที่จะใช้ยาจาก CL เป็นผู้ที่ไม่มีโอกาสจะได้ใช้ยามาก่อน และประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดยาในโลก ไม่ถึง 1% แต่เรื่องดังกล่าวถูกทำให้ดูเป็นเรื่องพิเศษเป็นการกระทำที่ “ไม่โปร่งใสและไม่ถูกต้อง” ดังปรากฏในเหตุผลการเลื่อนระดับเป็น PWL

 

          การเตือนให้หยุดใช้สิทธิ CL ต่อไปเห็นได้ชัดจากการขยายความในคำพูดว่า แม้จะถูกกฎหมายและจำเป็นแต่น่าจะมีการเจรจาและหาทางเลือกอื่นๆ บางทีก็กล่าวว่า การเลื่อนฐานะเป็น PWL ไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ต่อมากลับกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่ง

 

          ความพยายามทำให้คลุมเครือนี้ ก็เนื่องด้วยกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ใช้ปัญญาในการต่อสู้เพื่อใช้สิทธิ มีการเตรียมทำ CL ที่เป็นระบบตลอด จนได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังนั้น หากมีการหยุดประกาศใช้สิทธิก็จะถือได้ว่า คำประกาศ PWL ของสหรัฐมีผลในทางปฏิบัติ ทันที

 

          ภาคส่วนต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้ CL ควรต้องขับเคลื่อนให้รัฐบาลกำหนดท่าทีต่อการเจรจากับสหรัฐให้เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) ที่หวังจะให้สหรัฐ คืนสถานภาพจาก PWL เป็น WL เหมือนเดิม จึงมีข้อเสนอต่อท่าทีของประเทศไทยได้แก่

 

          1.ความเสมอภาคในการเจรจา ประเทศไทยต้องมีศักดิ์ศรีโดยการดำเนินการอย่างสุภาพบุรุษที่เคารพกติกาสากล และกฎหมายของประเทศไม่หวาดกลัวต่อ “กุ้งฝอยจีเอสพี” ทั้งนี้ วรตุลย์ ตุลารักษ์ในโครงการ FTAdigest/สกว. กล่าวว่า ไม่ควรสนใจคำขู่ของสหรัฐ ในการทำเอฟทีเอ แม้สหรัฐยกเลิกจีเอสพีผู้ประกอบการก็สามารถส่งออกได้ ในอัตราภาษีนำเข้าปกติ แม้ไม่สูงแต่ก็สามารถแข่งขันได้

 

          2.การเดินหน้าใช้สิทธิ CL ต่อไป ได้แก่ การสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจในบทบาทของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต่อการใช้ CL ไม่มีการยกเลิกการใช้ CL ที่ได้ทำไปแล้ว และพิจารณาความจำเป็นในการใช้ CL กับยาที่จำเป็นต่อผู้ป่วยต่อไป

 

          3.การไม่ยอมให้เรื่องยาเข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญมาก ทั้งนี้ก่อนหน้าการเจรจาเอฟทีเอ ทั้งฝ่ายสหรัฐ และผู้เกี่ยวข้องฝ่ายไทย ไม่ยอมเปิดเผยร่างข้อตกลงด้วยเกรงว่าจะมีผู้คัดค้านข้อตกลงที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ได้แก่ การขยายอายุสิทธิบัตร การตัดการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร สิทธิการครอบครองข้อมูลยา และการจำกัดสิทธิ CL รวมถึงให้สิทธิบัตรการผ่าตัดและวินิจฉัยโรค

 

          ขณะนี้เห็นชัดแล้วว่าการเจรจาของสหรัฐ มุ่งประเด็นเรื่องการขยายการผูกขาดยา ให้ครอบคลุมและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น จากความเพลี่ยงพล้ำในอดีต ในขณะที่ไทยยอมรับไปกว่าสิบปีก่อนหน้า จากการยอมแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตรให้ครอบคลุมยา ทำให้ไทยล้าหลังกว่าประเทศจีนและอินเดีย ที่เพิ่งมีการใช้ พรบ.สิทธิบัตรที่ครอบคลุมยาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ดังนั้นในแผนปฏิบัติการจะต้องไม่ยอมให้สหรัฐนำข้อต่อรองเกี่ยวกับยาเข้ามาในการเจรจา

 

          เมื่อภาคประชาสังคมได้แสดงบทบาทสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐ ในการใช้สิทธิ CL สู้ต่อไปเพื่อคนไทยเข้าถึงยา ก็คงต้องหวังว่า รัฐบาลและฝ่ายราชการจะ “สู้ไม่หยุด” ต่อไปในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 23-12-51

Shares:
QR Code :
QR Code