การแพทย์ทางไกล ลดแออัดโรงพยาบาล

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


การแพทย์ทางไกล ลดแออัดโรงพยาบาล thaihealth


แฟ้มภาพ


การแพทย์ทางไกล หรือTelemedicine (เทเลเมดิซีน) ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการรักษาคนไข้ ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล


องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 439 คน แต่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากรถึง 2,065 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.7 เท่าส่งผลให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ ห่างไกลยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์


กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีแนวทางในการนำระบบ Telemedicine (เทเลเมดิซีน) หรือการแพทย์ทางไกลที่มีการนำเทคโนโลยี มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งการบริการ และการรักษาคนไข้ ซึ่งคาดว่าถ้าทำได้จริง จะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้กว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดทำประกาศเกี่ยวกับการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine และคลินิกออนไลน์ เสร็จแล้วอยู่ในขั้นตอนของประชาพิจารณ์ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้ ซึ่งประกาศที่จะออกมานี้จะเป็นไป เพื่อการสร้างความมาตรฐานและคุ้มครองผู้ให้บริการผู้ป่วยเป็นหลัก


โดยกำหนดให้ผู้ที่จะทำ Telemedicine ได้จะต้องเป็นสถานพยาบาลที่เป็นของภาครัฐหรือเอกชน ที่จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมาย มีที่ตั้งชัดเจน และผู้ที่จะให้บริการต้องผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสถานพยาบาลที่จะทำต้องมาแจ้งเพื่อขออนุญาต ขณะเดียวกันไม่อนุญาตให้สถานพยาบาลทางการแพทย์ทางไกลออนไลน์ ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในคลินิก มีสถานพยาบาลชัดเจน เพราะผู้ประกอบการหรือผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องรับผิดชอบผู้ป่วยและผู้ให้บริการ ดังนั้นต้องเป็นแพทย์จริง บุคลากรทางการแพทย์จริง มีประวัติชัดเจนถึงจะดำเนินการได้


“Telemedicine ต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ มาตรฐานเดิมที่สอดคล้องกับวิธีการให้บริการแบบใหม่ และความรับผิดชอบ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก โดยใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือเครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ต้องผ่านการรับรองตามขั้นตอน และต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายแพทย์หรือกฎหมายยา ตอนนี้เมื่อเกิดโควิด-19 มีหลายโรงพยาบาลได้มีการนำการแพทย์ทางไกล มาใช้ในการให้บริการมากขึ้น


เพราะไม่ต้องการให้ผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาล ใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มต่างๆ มาใช้ทั้งการพบแพทย์ออนไลน์ การตรวจติดตามทางออนไลน์ การรับยาที่บ้าน การชำระเงินผ่านโมบายแบงค์กิ้ง เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้ และลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19” นพ.ธเรศ กล่าว


รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทางโรงพยาบาลศิริราชได้มีการบริการผู้ป่วยนอกแบบใหม่ โดยจะมีการให้บริการพบแพทย์ออนไลน์ ผ่านแอพพลิเคชั่น Siriraj Connect โดยคนไข้สามารถลงทะเบียน พบแพทย์ออนไลน์ ส่งเอกสารรับรองสิทธิ์ และสามารถรับยาได้ทางไปรษณีย์


ซึ่งโรงพยาบาลจะมีการนัดหมายพบแพทย์ทางโทรศัพท์ และแพทย์-พยาบาลจะโทรไปติดตามอาการ รักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องผ่านการวีดิโอคอล และถ้ามีการจ่ายยา เภสัชกรก็จะวีดิโอคอลไปให้คำอธิบายถึงการใช้ยา เมื่อทำการบริการเสร็จสิ้นก็จะให้ผู้ป่วยชำระค่าใช้จ่าย ผ่านแอพพลิเคชั่นโมบายแบงค์กิ้ง ซึ่งผู้ป่วยสามารถไปรับยาที่บ้านได้ทันที ทั้งนี้ ประมาณปลายเดือนนี้ จะให้บริการ Drive Thru เจาะเลือด โดยผู้ป่วยสามารถขับรถมาถึงจุดที่กำหนดเจาะเลือดได้ ในบริเวณที่จอดรถทันทีโดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล

Shares:
QR Code :
QR Code