การเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
การเกษียณอายุการงาน หมายถึงการที่ต้องหยุดทำงานที่เคยทำอยู่เป็นประจำ เพราะเหตุอายุครบกำหนด ที่หน่วยงานนั้นกำหนดไว้ หรือหยุดทำงานนั้นๆ เพราะร่างกายไม่เหมาะสม เช่น ราชการไทยกำหนดเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี
ผลกระทบต่อสุขภาพเมื่อเกษียณอายุการงาน
1.ทางกาย
เมื่อการเกษียณอายุ หมายถึง การหยุดจากการทำงานที่เคยทำอยู่เท่านั้น ผลกระทบกับสุขภาพทางกายจึงไม่พบว่าเป็นเรื่องสำคัญ สุขภาพทางกายก็คงดำเนินไปตามปกติ ทั้งนี้เพราะการเกษียณอายุการงานเป็นแต่เพียงกำหนดเวลาหนึ่งของกระบวนการสูงอายุที่ดำเนินการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายบ้าง ก็มักเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจมาก่อน
2.ทางจิตใจ
นับว่ามีผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งนี้เพราะจากผลการเกษียณอายุทำให้เกิด
- การเปลี่ยนแปลงในอาชีพและรายได้ การหางานใหม่ทำได้ยากขึ้นเพราะต้องแข่งขันกับคนหนุ่มสาวในตลาดแรงงาน การที่ต้องเป็นคนว่างงาน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการดำเนินชีวิต จากการที่ได้รายได้น้อยลง
- การเปลี่ยนแปลงในจิตวิทยาสังคม บทบาทที่เคยแสดงในสังคมถูกจำกัดลง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ตามตำแหน่งที่หดหายไป ทำให้ดูเป็นว่าความที่เคยได้รับการยกย่องเป็นคนสำคัญกลับกลายเป็นคนธรรมดา ทำให้มองภาพลักษณ์ตัวเองต่ำลง
- การเสื่อมทางกายภาพและสรีรวิทยาของอวัยวะต่างๆ ทำให้สมรรถภาพต่ำลง
3. แนวทางแก้ไขทั่วไป
ปรับแนวความคิดของตนเองเสียให้ถูกต้อง การเกษียณอายุการงานเป็นเรื่องธรรมดาของการทำงาน มีวันเข้าทำงานก็ต้องมีวันหยุดทำงาน อย่าเสียเวลามองโลกของช่วงชีวิตปัจฉิมวัยว่าเป็นเวลาของความเสื่อม
- จงคิดว่าต่างวัยต่างก็มีบทบาทต่างกัน ยิ่งสูงอายุก็ยิ่งมีประสบการณ์สูงขึ้น
- จงยอมรับโอกาสใหม่ๆ และประสบการณ์ใหม่ๆ
- จงใช้โอกาสที่ว่างสร้างงานอดิเรกใหม่ๆ ที่เราสนใจและสนุกสนานกับมัน
- จงดูแลสุขภาพอนามัยทั้งกายและใจของท่านให้ดี
สุขภาพนี้จะต้องดูแลตลอดชีวิต มิใช่มาเริ่มดูแล เอาเมื่อสูงอายุ เพราะกระบวนการสุขภาพเป็นกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่เกิดจนตาย
4. เตรียมตัวเกษียณอายุการงานไว้แต่เนิ่นๆ
ถ้าเราแบ่งช่วงชีวิตออกเป็นหลายช่วงตามวัยต่างๆ เช่น วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ
เมื่ออายุครบ 60 ปี (เกษียณอายุ) จะยังคงมีเวลา ชีวิตเหลืออยู่อีก 10-20 ปีก็เป็นการสมควรที่จะได้เตรียม ตัวเตรียมใจเพื่อเข้าสู่วัยดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
5. เป้าหมายและชีวิตที่มีคุณภาพ
การดำเนินกิจการอะไร ย่อมจะต้องมีเป้าหมายที่แน่ชัดว่า เป้าหมายคืออะไร แล้วจึงจะคิดหาวิธีนำไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้
คุณภาพชีวิตที่ดี คือ
- มีสุขภาพดี
- สามารถร่วมกิจกรรมกับเขาได้ตามอัตภาพ
- มีความมั่นคงที่จะนำไปสู่ความสุข อันได้แก่ ทางเศรษฐกิจ ชีวิต และทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อม
คุณภาพชีวิตดังกล่าวเป็นเป้าหมายที่เราจะต้องไปให้ถึงเพื่อความสุข การจะไปให้ถึงนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องทำเอง