การอ่านช่วยลดปัญหาสังคม
สสค.จัดเวทีปฏิรูปการเรียนรู้ หมอประเวศ แนะต้องปฏิรูปสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการอ่าน ชี้คนไทยอ่านหนังสือน้อยทำให้เข้าใจเรื่องซับซ้อนได้ยาก ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม ทะเลาะเบาะแว้งกันสูง ย้ำครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ซึ่งจะช่วยพัฒนาสมอง สติปัญญาควบคู่กับเรื่องของศีลธรรม
เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้กล่าวในการเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 33 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่อ่านหนังสือน้อยจึงทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เพราะคนที่อ่านน้อยจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อน เมื่อได้รับข่าวสารทางสื่อโทรทัศน์ หรือวิทยุที่ผ่านไปเร็วก็จะไม่เข้าใจ ไม่เหมือนการอ่านที่ยังสามารถอ่านทบทวนหลายครั้งได้จนกว่าจะเข้าใจ ยิ่งในปัจจุบันสังคมเต็มไปด้วยปัญหาที่ซับซ้อน เมื่อคนเข้าใจความซับซ้อนไม่ได้จึงเกิดปัญหา มีการทะเลาะเบาะแว้งกันสูง เราจึงต้องปฏิรูปไปสู่สังคมแห่งการอ่านให้ได้ เพราะการอ่านจะช่วยพัฒนาสมอง เกี่ยวข้องกับสติปัญญาและการใช้เหตุผล ซึ่งก่อให้เกิดศีลธรรมไปพร้อมกันด้วย
นพ.ประเวศ กล่าวต่อไปว่า ในการกระตุ้นให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นนั้น ตนเชื่อว่าทุกหมู่บ้านต้องมีคนที่รักการอ่านอยู่บ้าง ดังนั้นทุกจังหวัดควรส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันเป็นชมรมรักการอ่านของหมู่บ้าน และสนับสนุนการจัดสร้างห้องสมุดหมู่บ้าน โดยให้คนเหล่านั้นเป็นผู้ดูแล เชื่อว่าจะทำให้มีความสุขกับการอ่านและจะเชิญชวนคนอื่นให้มาอ่านมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันทุกครอบครัวก็ต้องมีบทบาทส่งเสริมการอ่านของเด็ก โดยพ่อแม่ต้องอ่านนิทานให้ลูกฟัง ซึ่งเด็กเล็กๆจะชอบฟังนิทานมาก แม้ยังไม่รู้เรื่องแต่ก็จะตื่นตาตื่นใจกับรูปภาพสีสันสดใส และไม่ว่าพ่อแม่จะอ่านให้ฟังซ้ำๆ กี่ครั้งก็ยังชอบ การอ่านนิทานให้ฟังจึงเป็นกระบวนการทางจิตที่ทำให้เด็กมีความสุขมาก และจะช่วยให้มีพัฒนาการที่ดี เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ
รศ.ดร.จิราภรณ์ ศิริทวี อดีตอาจารย์รร.สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บ้านคือตัวแปรสำคัญในการส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็ก และการอ่านก็มีความสำคัญเพราะจะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สิ่งต่างๆต่อไป
ด้าน ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล กรรมการปฏิรูปหลักสูตรฯ ม.มหิดล กล่าวว่า เราสามารถเริ่มพัฒนาการอ่านได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่หากพ่อแม่ไม่รักการอ่าน คงยากที่จะหวังให้ลูกรักการอ่าน ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันยังมีคนที่เป็นพ่อแม่จำนวนมากที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และมีความรู้ไม่มากพอในการเป็นพ่อแม่ ตนจึงไม่คาดหวังให้พ่อแม่เหล่านั้นอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แต่คิดกลับกันว่าอยากเห็นลูกอ่านหนังสือให้พ่อแม่ฟังก็ได้ ซึ่งน่าจะช่วยให้พ่อแม่เหล่านั้นเห็นคุณค่าของการอ่านมากขึ้น ในขณะเดียวกันเด็กก็ต้องฝึกเขียนด้วย
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์