การสร้างผู้นำ-ครูหัวใจใหม่

โครงการฝึก "ผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษา" ที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. เป็นเรื่องการพัฒนาสุขภาวะของคนไทยที่คุ้มค่า มีประโยชน์


การสร้างผู้นำ-ครูหัวใจใหม่ thaihealth


โครงการนี้ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ จากกรมสุขภาพจิต และรศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นคณะทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาครูคณาจารย์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา คัดเลือกและจัดฝึกอบรมผู้บริหาร  ครูอาจารย์ ผู้นำจากหน่วยงานจัดการศึกษาต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน ที่อายุไม่เกิน 40 ปี รุ่นละ 30 คน มาเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ 6 ครั้ง ครั้งละ 2-3 วัน ในรอบ 1 ปี ผู้เข้าร่วมโครงการมีโอกาสได้เรียนรู้แบบวิเคราะห์และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ทั้งเรียนรู้จักตัวเองและเพื่อน เรียนรู้เรื่องการพัฒนาตนเองและสังคม ความกล้าหาญทางจริยธรรม การคิดเชิงระบบการสื่อสาร การสร้าง นวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา


วิธีการฝึกอบรมรวมทั้งการได้คัดเลือกและเชิญครูอาจารย์ ผู้นำที่เป็นแบบอย่าง กัลยาณมิตร (ครูพี่เลี้ยง) มาร่วมเสวนา การไป ดูงานเรียนรู้จากสังคมจริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อทำงานเป็นทีมทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ในโรงเรียน หน่วยงาน หรือชุมชน


ตอนนี้ทำไป 2 รุ่นแล้ว มีโครงการย่อย ที่ผมในฐานะ Mentor หรือกัลยาณมิตร  ได้ไปเข้าร่วมเสวนาที่น่าสนใจคือ "โครงการครูหัวใจใหม่" ที่ดำเนินการโดยผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษารุ่นที่ 1 กลุ่มหนึ่ง กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยเชิงปฏิบัติการของพวกเขาคือ นิสิตนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชั้นปีที่ 1-2 ราว 30-40 คน


โครงการครูหัวใจใหม่ มุ่งที่จะสร้างครู ที่มีแนวคิด อุดมการณ์ อยากเป็นครูที่ดี  และรู้ว่าควรจะพัฒนาตนเองอย่างไร รับนิสิตวิชาครูที่สมัครสนใจเข้าร่วมโครงการและจัดกิจกรรมและการอบรมเชิงปฏิบัติการ  5 ครั้ง ในรอบ 1 ปี ตาม ขั้นตอน 7 ขั้นตอน เริ่มจาก การค้นหาตนเองและรู้จักตนเอง กิจกรรมเพื่อทำให้นิสิตเกิดแรงบันดาลใจในการเป็นครูหัวใจใหม่, การสร้างผู้นำ-ครูหัวใจใหม่ thaihealthกิจกรรม ที่ช่วยให้นิสิตมองเห็น วิเคราะห์และเชื่อมโยงปัญหาแบบองค์รวม, กิจกรรมการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอความคิด การทำงาน เป็นทีมและภาวะผู้นำ  (รวมทั้งการดูภาพยนตร์ดีๆ  แล้วมาคุยกัน)


ผู้เข้าร่วมการอบรมได้เรียนรู้ผ่าน ปฏิบัติการในพื้นที่จริง คือ ที่ชุมชมแออัด และโรงเรียนคลองเตย ชุมชนชนบทและโรงเรียนที่ยากจนในอำเภอรอบนอก ในพิษณุโลก บ้านกาญจนาภิเษก บ้านสำหรับการฝึกอบรมเด็กวัยรุ่นที่เคยทำผิดกฎหมาย ที่มีอาจารย์ทิชา ณ นคร เป็นผู้อำนวยการนิสิตที่เข้าร่วมโครงการราว 30 คน  ได้ฝึกฝนการฟัง การอ่าน การคิดวิเคราะห์ การอภิปราย การไปดูชุมชนจริง ปัญหาจริง  สัมภาษณ์คนยากจน คนที่มีปัญหา ได้ฟังและ เสวนากับผู้นำที่มีความคิดและประสบการณ์ ถอดบทเรียนสรุปประสบการณ์และพัฒนา การเรียนรู้ของตนเอง ทำให้นิสิตนักศึกษาที่ เข้าร่วมในช่วงท้ายโครงการได้เรียนรู้จักตนเอง และพัฒนาความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของนักเรียน คนอื่นๆ ที่มีปัญหาในสังคม  ที่พวกเขาได้ไปสัมผัสพูดคุย ร่วมทำกิจกรรมกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจ มีความคิด ความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเอง มีเป้าหมายในอนาคตที่จะเป็นครูที่ดีเพิ่มขึ้น กล้าคิด กล้าแสดง สื่อสารได้ขึ้น  พวกเขาได้จัดตั้งชมรมครูหัวใจใหม่ขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมด้วยตัวเองต่อ


โครงการจัดฝึกอบรมการเรียนรู้แนวใหม่แนวนี้ น่าจะเป็นแบบอย่างที่คณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ทุกแห่ง ควรจะนำไปใช้ คณะสาขา วิชาอื่นๆ หรือโรงเรียนระดับมัธยมปลายก็น่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะนี่คือหัวใจของการปฏิรูปหลักสูตร การเรียนรู้ และการพัฒนาคน ที่ต่างไปจากหลักสูตร วิธีการ


สอนแบบเดิม ที่ส่วนใหญ่ใช้แต่การบรรยายและการจำ เข้าใจเนื้อหา ทฤษฎี วิชาการ วิชาชีพ ไปสอบเอาคะแนน  ไม่ได้สนใจการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ความฉลาดทางสังคม (มีจิตสำนึกเพื่อ ส่วนรวม) การพัฒนาด้านบุคลิก นิสัย  ค่านิยม ทัศนคติ การพัฒนาเรื่องเหล่านี้คือเรื่องสำคัญที่สุดในการพัฒนาพลเมืองผู้รับผิดชอบ  โดยเฉพาะการพัฒนาผู้ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีโอกาสจะเป็นผู้นำในระดับต่างๆ ในสังคมต่อไป


การทำโครงการแบบนี้ต้องอาศัยผู้บริหาร สถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ ที่เข้าใจและเห็นความสำคัญของการจัดการเรียนรู้แนวใหม่  อุดมการณ์และตั้งใจลงมือทำจริง เพราะต้อง เตรียมงาน ติดตามงานที่มีภาระงานหนัก เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องอาศัยงบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็อาจจะดัดแปลงโดยใช้งบลดลงได้ หรือควรโยกย้ายงบอื่นมาใช้ได้ โครงการ แนวนี้จะเป็นการลงแรงและทุนที่คุ้มค่า  การปฏิรูปคนให้เป็นครูที่ดี เป็นพลเมือง ผู้นำที่รับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปประเทศได้


          


   


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code