การศึกษาไทยต้องเริ่มต้นที่‘เด็กปฐมวัย’

การศึกษาไทยต้องเริ่มต้นที่‘เด็กปฐมวัย’ thaihealth


แฟ้มภาพ


จุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สำคัญคือการให้น้ำหนักที่การดูแลเด็กตั้งแต่ปฐมวัย หรือตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและถือเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่าที่สุด


การจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยที่มีคุณภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะอื่นๆ ในการดำรงชีวิตให้แก่เด็ก อย่างไรก็ตามด้านการศึกษา ในปี 2556 จะพบว่าการลงทุนในเด็กปฐมวัยกลับอยู่ในลำดับรั้งท้าย โดยอันดับ 1 ประถมศึกษา 32.72% ตามด้วยอุดมศึกษา 21% มัธยมศึกษา 20.8% อนุบาล 10.94% อาชีวศึกษา 5.41% ขณะที่การศึกษาปฐมวัยหรือก่อนวัยเรียนอยู่ที่ 1.76%


คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากลงทุนโดยเริ่มต้นที่ “เด็กปฐมวัย” ทำอย่างไรถึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีการนำเสนอกรณีศึกษาการลงทุนที่คุ้มค่าของเด็กปฐมวัยผ่านศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ หรือ RIECE Thailand โดยการสนับสนุนของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.)


ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง หัวหน้าโครงการ เล่าว่า เป้าหมายของโครงการต้องการสร้างทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพให้แก่เด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งพบว่าการลงทุนตั้งแต่เด็กปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูง ในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม จึงเริ่มสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 49 ศูนย์ โดยการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 29 แห่งใน จ.มหาสารคามและกาฬสินธุ์ ครอบคลุมเด็กปฐมวัย 2,000 คน โดยการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรไฮสโคป


การศึกษาไทยต้องเริ่มต้นที่‘เด็กปฐมวัย’ thaihealthเนื่องจากผลการวิจัยของ ดร.เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล พบว่าเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ได้ผลตอบแทนคืนกลับสู่สังคมไม่ต่ำกว่า 7 เท่า และสาเหตุที่เลือกในพื้นที่จ.มหาสารคามและกาฬสินธุ์ เพราะมีทีมวิชาการที่เข้มแข็งจากคณะศึกษาศาสตร์ ม.มหาสารคาม และถือเป็นภาพจำลองของชนบทไทยได้อย่างดี


“จ.มหาสารคาม ไม่ใช่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และไม่ใช่จ.แม่ฮ่องสอน แต่เป็นภาพสะท้อนของความเป็นชนบทไทยที่ดี จากการเก็บข้อมูลพบว่าเด็กจำนวนมากถึง 42.17% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือเรียกว่าภาวะพ่อแม่ห่างลูกซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30% ภาวะนี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เนื่องจากขาดกิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการเล่น และการอ่าน โดยพบความแตกต่างของช่วงเวลาที่มีคุณภาพระหว่างเด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่กับเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ การตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อทำหน้าที่สร้างช่วงเวลาที่มีคุณภาพอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน ในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ที่จะพัฒนาไปสู่ต้นทุนชีวิตและคุณภาพชีวิตในอนาคต”


สำหรับรูปแบบการสอนแบบไฮสโคป ดร.วีระชาติ ให้ข้อมูลว่า หัวใจของกระบวนการเรียนรู้แบบไฮสโคปเน้น 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ 1.การวางแผน (Plan) เพื่อให้เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมาย ทำงานอย่างเป็นระบบก่อนลงมือปฏิบัติ 2.การลงมือปฏิบัติ (Do) เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักสำรวจ สร้างสรรค์จินตนาการ รู้จักเข้าสังคมและทำงานเป็นกลุ่ม และ 3.การนำเสนอ (Review) เพื่อทบทวนกิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยการนำเสนอหน้าชั้นเรียนซึ่งเป็นการฝึกการสื่อสารจากการเล่าประสบการณ์ เด็กจะกล้าแสดงออก รู้จักคิดตั้งคำถามและเป็นผู้ฟัง นอกจากนี้การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กวัย 2-4 ขวบ โดยมีโครงร่างหรือสัญลักษณ์รูปภาพสิ่งของที่วางไว้เพื่อให้เด็กสามารถนำกลับมาเก็บไว้ที่เดิม รวมถึงกิจกรรมกลุ่มใหญ่เพื่อเสริมประสบการณ์เพื่อให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม


“ผลจากการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าเด็กรู้จักหน้าที่ของตนเอง มีระเบียบวินัย มีสมาธิและทักษะการสื่อสารที่ดีภายในเวลาเพียง 9 เดือน สิ่งสำคัญในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพคือการอบรมครูประจำศูนย์เด็กเล็กด้วยวิธีฝึกปฏิบัติจริง พร้อมกับการเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่ครู นอกจากนี้ยังมีการตามเก็บข้อมูลเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยการศึกษาไทยต้องเริ่มต้นที่‘เด็กปฐมวัย’ thaihealthโครงการคาดหวังอยากให้มีการเชื่อมต่อระบบการสอนเด็กที่เน้นการส่งเสริมทักษะทางพฤติกรรมไปยังโรงเรียนอนุบาลและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสังกัด สพฐ. รวมถึงการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพราะการลงทุนในเด็กปฐมวัยยิ่งลงทุนเร็วเท่าไหร่ยิ่งคุ้มค่าที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม หวังว่าการใช้งบประมาณของภาครัฐต่อหัวหลังจากนี้จะเป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญแก่เด็กปฐมวัยเป็นอันดับ 1”


ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. ย้ำว่า การเรียนรู้ในช่วงเด็กปฐมวัยถือเป็นยุคทองของช่วงเวลาที่สมองเปิดรับได้ดีที่สุด โดยเฉพาะทักษะด้านพฤติกรรม (non-cognitive skills) เช่น ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความพยายาม ความอดทนอดกลั้น และความสามารถในการคิด ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นทักษะพื้นฐานที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่สูงขึ้น เช่น ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการในปี 2020 หากพ้นช่วงเวลาที่สำคัญนี้ไปจะเป็นการทำลายโอกาสการพัฒนาทักษะสำคัญในการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตที่ประสบความสำเร็จ


รศ.นิตยา คชภักดี ประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย สะท้อนว่า รูปแบบการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบไฮสโคปเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะผลที่พิสูจน์ได้ว่าเด็กมีพฤติกรรมสนใจใฝ่รู้และเด็กมีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นการฝึกให้รู้จักวางแผนซึ่งเป็นทักษะที่คนไทยยังขาดอยู่ ทั้งนี้หากมีการเชื่อมโยงกับโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย หรือ DSPM ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นระบบการเก็บข้อมูลพัฒนาการที่สมวัยของเด็กเล็กโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ หากนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานให้โครงการในการเจาะลึกที่จ.มหาสารคามและกาฬสินธุ์ จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการศึกษาถึงความเชื่อที่ผิดของพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่และผู้ปกครองในชนบทไทย ซึ่งปัจจุบันเด็กเล็กมากกว่า 40% ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนต่อไป


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โย ภมรศรี แดงชัย นักวิชาการสื่อสาร สสค. 

Shares:
QR Code :
QR Code