การศึกษาใหม่ใส่ใจ`สังคมพหุวัฒนธรรม`
ปัจจุบันมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย 3-5 ล้านคน และมีชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาที่เป็นระบบอิสลาม ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนประวัติความเป็นมาของศาสนา และเรียนอ่านพระคัมภีร์ ซึ่งถือเป็นวัตรปฏิบัติที่ทำกันมาเป็นเวลาช้านานของชาวมุสลิมในประเทศไทย
แต่ก็มีชาวมุสลิมอีกจำนวนไม่น้อย ที่มีภูมิลำเนาในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศที่มิใช่ภาคใต้ และเด็กๆ เยาวชนกลุ่มนี้ยังคงใช้ตำราเรียนจากส่วนกลาง ทำให้การเรียนรู้ เรื่องราวของศาสนาตนเองนั้นไม่สมบูรณ์ ในขณะที่กระบวนการจัดการเรียนรู้ในบ้านเราเน้นความเป็น พหุวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึง วัฒนธรรมที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ หลายศาสนาและวัฒนธรรม
นี่จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนา "การปฏิรูปการศึกษาด้วยบูรณาการและการเปิดตัวหนังสือสุขศึกษา- พลศึกษาบูรณาการอิสลาม" โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับ มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย หรือ สสม. โดย ศ.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวยอมรับว่า การศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน ควรเป็นการคืนความสุขในการเรียนรู้ให้กับเด็กไทย รวมถึงสร้างอนาคตให้เด็กไทยมีสัมมาชีพ ใฝ่เรียนรู้ และสามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต ภายใต้แนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งเน้น การเปลี่ยนระบบการเรียนวิชาการ สู่การสร้างทักษะความคิด และสร้างสังคมการเรียนรู้แบบพหุวัฒนธรรม รวมทั้งสร้างสมดุลการใช้ชีวิตเพื่อสร้างความเข้าใจให้เด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นมาอยู่ในสังคมร่วมกันได้อย่างมีความสุข หลักสูตรการเรียนการสอนจึงต้องมีการ ปรับแต่งให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพื้นที่ เน้นการลงมือทำ กระตุ้นให้คิด เช่นเดียวกัน หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการปรุงแต่งขึ้นใหม่เพื่อให้มีเนื้อหาเหมาะสำหรับการสอนนักเรียนที่เป็นชาวมุสลิม
รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิ สร้างสุขมุสลิมไทย กล่าวถึงการจัดทำตำราแบบบูรณาการ โครงการนี้ได้เริ่มต้นจากการนำตำราสุขศึกษา- พลศึกษามาเป็นวิชานำร่องบูรณาการเพื่อสอดแทรกเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และคำสอนภายใต้ศาสนาอิสลาม จากนั้นจึงสอดแทรกเข้าไปในตำราคณิตศาสตร์ และตำราวิทยาศาสตร์
"การบูรณาการหลักศาสนาอิสลามเข้าไป ในหนังสือเรียนนั้น ช่วยตอบโจทย์หมู่พี่น้อง ชาวมุสลิมที่ต้องการให้ลูกหลานได้เรียนศาสนา ควบคู่วิชาสามัญ" ทางด้าน รศ.ดร.อิบราฮีม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า การใช้หลักบูรณาการของศาสนาเข้าไปในตำราเรียน เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทั้งในเรื่องของวิชาการ และหลักของศาสนา เป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม คำสอนของอิสลามเข้าไป เพื่อให้เด็กซึมซับเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตด้วย
ทั้งหมดนี้คือวิถีทางการเรียนรู้มิติใหม่ของ เด็กไทยที่จะต้องมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ในด้านการรู้รอบ และมุ่งหวังการจัดการดูแลชีวิตของเด็กๆ อย่างดี มากกว่ามุ่งหวังการเห็นผลคะแนนสูงๆ เป็นตัวตั้ง องค์ความรู้ที่มีอยู่ทั่วไปรอบตัวและในชุมชน คือแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่จะทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับและเข้าใจวิถีชีวิตในชุมชนของตนเอง ก่อนจะนำความรู้ที่ได้มา กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติในอนาคต
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ