การศึกษาทางเลือก “เรียน” เพื่อรู้จักใช้ชีวิต

/data/content/23375/cms/bcgjnqsx2358.jpg

          คุ้นหูกันไม่น้อย กับคำว่า “การศึกษาทางเลือก” หากแต่ความหมายและคุณค่าของการศึกษาทางเลือกจะเป็นเช่นไร อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ  เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกการศึกษา พร้อมพูดคุยให้ฟัง

          โดยภายในงานเสวนา “เปลี่ยนการศึกษาเพื่อเด็กและเยาวชน” จัดโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อไม่นานมานี้ ชวนสังคมพูดคุยเรื่อง “การศึกษา” เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับเด็กไทย ชูการศึกษาทางเลือกขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ

          เนื่องจากการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย เริ่มเกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปการศึกษา ปี 2542 และเป็นที่มาส่วนหนึ่งของแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชนในสังคมไทยอย่างสมบูรณ์รอบด้าน ที่มิได้เน้นแต่วิชาการอย่างเดียว หากแต่ปรากฏเป็นรูปธรรมทั้งการระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2540 และในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 ใจความว่า

         “การศึกษาทางเลือก คือ การศึกษาที่มีรูปแบบแตกต่างจากการศึกษากระแสหลัก เป็นการศึกษาที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีรูปแบบหลากหลายทั้งเนื้อหา และวิธีการเรียนรู้ เนื่องจากมุ่งตอบสนองการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน ที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านความถนัด ความสนใจ ความพร้อมในการเรียนรู้รวมถึงความแตกต่างด้านสภาพแวดล้อมในวิถีชีวิตครอบครัว สังคม วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชาติพันธุ์

         โอกาสนี้ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกการศึกษา ให้ข้อมูลว่าการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) คือ การศึกษาเชิงอุดมคติ เพื่อแสดงถึงคุณลักษณะของรูปแบบการศึกษาที่ไม่ใช่การศึกษาแบบเดิม อาจเป็นได้ทั้งโรงเรียนอิสระ หรือการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ไม่อิงสถาบันการศึกษา แต่ยึดชุมชนเป็นหลัก

/data/content/23375/cms/bjknpuvyz246.jpg         สำหรับสังคมไทยที่ผ่านมา ตัวอย่างของการศึกษามักจะประกอบด้วย วัด ชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีประสบการณ์ ครอบครัว ฯลฯ ตามความเหมาะสมของแต่ละสังคม โดยที่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับกระแสหลัก เพราะหากโลกนี้มีดอกไม้อยู่เพียงชนิดเดียว ก็จะไม่มีความงามและไม่เป็นธรรมชาติ ดังนั้น การศึกษาทางเลือก จะมีการเรียนการสอนที่มีขอบเขตกว้างขวางและหลากหลายรูปแบบมากกว่าการศึกษากระแสหลัก

         “ปัจจุบันบางสถาบันการศึกษายังคงเน้นแค่การสอนหนังสือ หรือ เรียนเฉพาะข้อมูลความรู้วิชาการ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ภายในแต่ละบุคคล”

         อาจารย์ชัชวาลย์ ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า คนทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเรียนรู้ได้ดี เมื่อรู้สึกสนุก หรือมีความสุขกับการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ ฉะนั้น อารมณ์ ความสนุก แรงบันดาลใจ จึงมีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ รวมถึงสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเรื่องที่กำลังเรียนกับประสบการณ์เดิม และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีภาคปฏิบัติในสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงให้ได้มากที่สุด

         การที่เรามีโรงเรียนที่เปิดให้มีความยืดหยุ่น ในเรื่องของหลักสูตร ในเรื่องของวิธีการเรียนการสอน ในเรื่องของการประเมินผล เป็นนวัตกรรมที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเด็กแต่ละคน ท้องถิ่นแต่ละที่ มีการสั่งสม ถ่ายทอด และต่อยอดความรู้ด้วยวิธีใด ด้วยเหตุนี้การสร้างความยืดหยุ่น จึงนับเป็นการเปิดทางเลือกใหม่ๆ ในแต่ละชุมชน ซึ่งสำหรับเด็กแต่ละคนแล้ว ถือเป็นนวัตกรรม

         “ทุกคน มีความต้องการเหมือนกันคือ ทำอย่างไรจึงจะดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดี ทำอย่างไรจึงจะนำวิชาการต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ได้ดีอย่างมีคุณธรรมเป็นองค์ประกอบ ที่เรียกว่าจริยศึกษา เช่น หากจะเป็นวิศวกร ก็ควรเป็นวิศวกรที่ดี มีความรับผิดชอบ เป็นสถาปนิก ก็เป็นสถาปนิกที่มีคุณธรรม ฉะนั้น จริยธรรมจึงเป็นวิชาที่ต้องบูรณาการเข้าไปในทุกวิชา” เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกการศึกษา กล่าว

          ทั้งนี้ การศึกษาที่ดี จะต้องสร้างความสุขในการเรียนรู้ และเรียนรู้อย่างบูรณาการในองค์รวมของชีวิต ถือวิชาการกับวิถีชีวิตเป็นเนื้อเดียวกัน เรียนรู้จากความเป็นจริง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ก่อเกิดเป็นความรักในการเรียนรู้ รู้ได้อย่างหลากหลาย ทั้งรู้เชื่อมโยง รู้สร้างสรรค์ รู้สิ่งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ เป็นต้น

         ทั้งหมดนี้ จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า การศึกษา ไม่ใช่การเรียนหนังสือไปตามเล่มใดเล่มหนึ่ง แต่คือการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามให้กับชีวิต ในเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมองค์รวมความเป็นทั้งหมดของชีวิต

 

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th


Shares:
QR Code :
QR Code