การระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด
ที่มา: เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
การระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด ทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทำการผ่าตัดที่ส่วนใดของร่างกาย ซึ่งระยะเวลาของการระงับความเจ็บปวดด้วยยาชานั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของยาชา ได้แก่ ยาชาชนิดออกฤทธิ์ยาว 4-5 ชั่วโมง และยาชาชนิดออกฤทธิ์สั้น โดยศัลยแพทย์ผ่าตัดจะรู้ว่าต้องใช้ยาชนิดใด และมีการเพิ่มจำนวนการฉีดตามระยะเวลา
อ.พญ.ชวิกา พิสิฏฐศักดิ์ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบารามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลายคนคงจะเคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดในรูปแบบใด หรือผ่าตัดส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการผ่าตัดก็คือ การระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด หรือหลายคนเรียกว่า การวางยาสลบนั่นเองเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีการระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัดว่ามีกี่วิธี ข้อดี ข้อเสียของแต่ละวิธี และวิสัญญีแพทย์จะเลือกใช้วิธีการใดอย่างไร
การระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด มีด้วยกัน 4 วิธี คือ
วิธีที่ 1 การดมยาสลบ เป็นการระงับความรู้สึกทั่วทั้งร่างกาย ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดจะหมดสติและไม่รู้สึกตัวระหว่างการผ่าตัด
วิธีที่ 2 การทำให้ชาเฉพาะที่ จะมีตั้งแต่การบล็อกหลัง การทำให้ชาลงไปครึ่งตัว
วิธีที่ 3 การทำให้ชาเฉพาะส่วน เช่น ข้อเท้า ขาข้างเดียว หรือ แขน เป็นต้น
วิธีที่ 4 การทำให้ชาเฉพาะบริเวณลงมีดผ่าตัดของหมอ อาจฉีดยาชาบริเวณเส้นประสาทโดยตรง เพื่อให้ชา และอาจให้ยานอนหลับอ่อน ๆ ร่วมด้วย
การระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด ทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทำการผ่าตัดที่ส่วนใดของร่างกาย ซึ่งระยะเวลาของการระงับความเจ็บปวดด้วยยาชานั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของยาชา ได้แก่ ยาชาชนิดออกฤทธิ์ยาว 4-5 ชั่วโมง และยาชาชนิดออกฤทธิ์สั้น โดยศัลยแพทย์ผ่าตัดจะรู้ว่าต้องใช้ยาชนิดใด และมีการเพิ่มจำนวนการฉีดตามระยะเวลา
ข้อดีของการระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเมื่อได้รับยาแล้วจะรู้สึกสบาย นอนเฉย ๆ ไม่ต้องมีความวิตกกังวลใด ๆ และในทางด้านการผ่าตัด ผู้ผ่าตัดย่อมผ่าตัดได้ง่ายและสะดวก ส่วนเรื่องการดูแลระบบหมุนเวียนโลหิตและระบบการหายใจ ก็จะควบคุมโดยวิสัญญีแพทย์ สิ่งเหล่านี้คือ ข้อดีที่เด่นชัดของวิธีการรับยาระงับความรู้สึกระหว่างผ่าตัด
การระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด หากมองในแง่ผลเสียแล้ว หากใช้วิธีการให้หมดสติต้องใช้ยาหลายชนิด และผลจากการใช้ยาก็อาจทำให้เกิดการแพ้ยาได้ ซึ่งพบได้น้อยมาก ส่วนการดมยาสลบนั้น ก็ต้องมีการช่วยหายใจ ดังนั้น ภาวะแทรกซ้อนของระบบการหายใจก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจได้ลำบาก หรือใส่แล้วมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ตื่นขึ้นมาเสียงแหบ เจ็บคอ หรือมีปัญหาคลื่นไส้อาเจียน อันเป็นผลข้างเคียงจากยาดมสลบ แพทย์จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าผู้ได้รับการผ่าตัดกรณีใดควรบล็อกหลังหรือดมยาสลบ
การพิจารณาเลือกวิธีในการระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด
ขั้นแรก ต้องทราบว่าทำการผ่าตัดอะไร เพราะการผ่าตัดบางประเภทต้องดมยาสลบเท่านั้น เช่น ผ่าตัดสมอง ช่องท้อง ช่องอก เป็นการผ่าตัดใหญ่ที่ใช้วิธีการดมยาสลบได้วิธีเดียวเท่านั้น แต่ในการผ่าตัดบางประเภทสามารถทำได้ทั้งการดมยาสลบและการทำให้ชาเฉพาะที่ ดังนั้น วิสัญญีแพทย์จะมีการแนะนำตั้งแต่แรกก่อนรับการผ่าตัดว่าควรเลือกวิธีการใด เช่น การผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดไส้เลื่อน ผ่าตัดขา หรือผ่าตัดบริเวณด้านล่างลงไป มักสามารถเลือกได้ทั้ง 2 วิธี ขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามใด ๆ ก็สามารถทำได้ทั้ง 2 อย่าง โดยแพทย์มักให้ผู้ป่วยเป็นผู้เลือก
ขั้นที่ 2 ต้องดูที่ตัวผู้ได้รับการผ่าตัดเองด้วยว่ามีข้อห้ามอะไรอย่างไรหรือไม่ ถ้าเกิดผู้ได้รับการผ่าตัดมีลักษณะหรือโรคประจำตัวที่บ่งชี้ว่าวิธีการใดได้ประโยชน์มากกว่า แพทย์ก็จะแนะนำว่าอยากให้เลือกวิธีนี้ หรือผู้ได้รับการผ่าตัดบางคนที่มีข้อห้ามชัดเจนเรื่องการบล็อกหลัง แพทย์ก็จะแจ้งให้ทราบว่าขอเลือกวิธีการดมยาสลบ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือด หรือ ผู้ป่วยที่มีโรคกระดูกสันหลัง หรือโรคหัวใจบางประเภท แพทย์มักจะแนะนำวิธีการดมยาสลบ
มาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงจะมีคำถามเกี่ยวกับการใช้วิธีการดมยาสลบ แน่นอนว่า เมื่อไม่รู้สึกตัวระหว่างการผ่าตัดก็ไม่ต้องกังวลใด ๆ แต่อาจมีการแพ้ยา คลื่นไส้ อาเจียน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทำให้เสียงแหบ เจ็บคอ และการฟื้นตัวจะช้ากว่าในเรื่องการรู้สึกตัว การพยายามขยายปอด ช่วยหายใจหลังผ่าตัด ทำได้ช้ากว่ากลุ่มบล็อกหลัง
สำหรับข้อดีของการบล็อกหลังฉีดยาชา คือการใช้ยาน้อย ช่วยให้คนไข้ชาไปครึ่งตัวล่าง ทำให้ไม่มีแพ้ยา หรือผลข้างเคียงจากการแพ้ยา นอกจากนี้ยังสามารถให้ยาแก้ปวดได้ เนื่องจากการบล็อกหลัง จะมีวิธีการใส่ยาแก้ปวดลงไปในการบล็อกหลัง ทำให้ผู้ได้รับการผ่าตัดไม่เจ็บปวดมากช่วงหลังการผ่าตัด
อีกคำถามหนึ่งที่พบได้มากก็คือ มีโอกาสตื่นระหว่างการผ่าตัดหรือไม่
ในความเป็นจริงแล้ว มีโอกาสตื่นระหว่างการผ่าตัด แต่ว่าน้อยมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ทำให้คนไข้รู้สึกตัว เช่น คนไข้มีความดันโลหิตต่ำมาก อาจเกิดจากการผ่าตัดแล้วเสียเลือดมาก หรือคนไข้มีระบบหมุนเวียนโลหิตไม่ดีอยู่แล้วจากโรคประจำตัวเดิม ทำให้วิสัญญีแพทย์ที่ดูแลจำเป็นต้องรีบลดยาดมสลบอย่างกะทันหัน เมื่อลดระดับยาลงแล้ว ก็ต้องมียาตัวอื่นมาทดแทน ช่วงรอยต่อตรงนี้จะทำให้มีจังหวะที่รู้สึกตัวขึ้นมาเล็กน้อยได้ ผู้ได้รับการผ่าตัดส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกเจ็บปวด เนื่องจากฤทธิ์ยาแก้ปวดต่าง ๆ ที่ให้มักยังหลงเหลืออยู่ เบื้องต้นคนไข้จะรู้สึกตกใจมากกว่า และหลับไปอย่างรวดเร็วในที่สุด
การเตรียมตัวก่อนการระงับรู้สึกระหว่างการผ่าตัดด้วยวิธีต่างๆ ผู้ได้รับการผ่าตัดจะต้องงดน้ำ งดอาหาร โดยผู้ใหญ่งด 8 ชั่วโมง เด็กเล็ก 6 ชั่วโมง หากทานน้ำให้งดได้ 2 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด ฉะนั้นการงดน้ำงดอาหารจึงเป็นวิธีการ เตรียมตัวเบื้องต้นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีดมยาสลบหรือบล็อกหลังก็ตาม เพื่อป้องกันการสำลักอาหารระหว่างการผ่าตัด
นอกจากนี้แล้ว การควบคุมตัวเองระหว่างรอการผ่าตัด บางรายอาจมีไข้สูง เป็นหวัด ถ้าการผ่าตัดไม่ด่วน แต่ว่ามีความเสี่ยง จะต้องแจ้งวิสัญญีแพทย์ก่อน เพื่อเลื่อนการผ่าตัด แต่ถ้าด่วนและต้องผ่าตัด ก็ต้องรับมือกับความเสี่ยงและป้องกันเท่าที่จะทำได้.