การพัฒนา จากโรงเรียนสู่โลกการทำงาน
การประชุมเสวนาวิชาการ“เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ครั้งที่ 32 สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้จะมีการนำเสนอโครงการนำร่องของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Science, Technology, Engineering and Mathematics หรือ“STEM”เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของตลาดแรงงานไทยที่ผลิตภาพแรงงานต่ำ
เนื่องจากขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศที่ไม่เพียงพอใน 2 รูปแบบได้แก่ 1) โครงการ ‘Career Academy’ และ 2)โครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงานเพื่อพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมหรือ ‘WiL’ (Work-integrated Learning) เพื่อมุ่งยกระดับโจทย์พัฒนาแรงงานคุณภาพจากโลกของโรงเรียนสู่โลกแห่งการทำงาน
นายเรืองฤทธิ์ อภิวงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่อายวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดอบจ.เชียงใหม่ หนึ่งในโรงเรียนนำร่องในโครงการ Career Academy เล่าว่า จากเดิมที่โรงเรียนพยายามจะปรับปรุงการเรียนการสอน โดยให้ครูจัดกิจกรรมบูรณาการผ่านแหล่งเรียนรู้ แต่กลับพบว่ามีนักเรียนส่วนหนึ่งที่เมื่อจบม.3 และม.6 แล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เนื่องจากไม่มีทักษะในการทำงาน โดยเฉพาะทักษะการคิด จึงเป็นที่มาของ “แหล่งเรียนรู้ห้องหม่อนไหม” ที่มุ่งส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลัก ใช้ทักษะในการสังเกต ทดลอง คิดวิเคราะห์ และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างมีเหตุผล ซึ่งมีความจำเป็นและเป็นโอกาสกระตุ้นฝึกให้นักเรียนคิดมากขึ้น
“โชคดีที่ได้รับการแนะนำจากสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ให้ร่วมงานกับสวทน.ซึ่งนำภาคธุรกิจและเครือข่ายการศึกษานำโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี เข้ามาร่วมกันบูรณาการการเรียนรู้ ทำให้ได้รับการแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างภาคีเครือข่ายการศึกษา และภาคธุรกิจว่า คุณลักษณะของผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ควรเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนประดิษฐ์คิดค้นในสิ่งใหม่ๆ ขณะที่ภาคธุรกิจ “บริษัทเพียรกุศล” ช่วยพัฒนาในการออกแบบดีไซน์ลวดลายผ้าและรูปแบบสินค้า โดยนักเรียนเป็นผู้สร้างนวัตกรรมลงมือทำเอง ซึ่งมีความจำเป็นเพราะในปัจจุบันเครื่องมือมีความละเอียด ต้องใช้ทักษะระดับสูง หากไม่ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ ก็ยากที่จะทำงานในบริษัทเหล่านี้ได้ ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่านี้เป็นอีกวิธีการทำงานและการเรียนรู้ที่ดีอีกแบบหนึ่งที่จะสามารถให้นักเรียนอยู่รอดในโลกอนาคต”
ขณะที่ผศ.ดร.นิวัตร มูลปา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัท สยามมิชลิน จำกัด ในโครงการ WiL ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงานร่วมกับภาคเอกชนว่า ในฐานะหัวหน้าโครงการนำร่องร่วมกับหลายมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ และสวทน.ประโยชน์ที่เกิดแก่ผู้เรียนคือได้ทำงานเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งในโรงงาน เรียกว่า “โรงเรียนในโรงงาน” โดยผู้เรียนต้องได้เรียนหนังสือทุกวันอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์ อยู่ในระเบียบ 24 ชั่วโมง มีหอพัก เบี้ยเลี้ยง ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ โดยในรุ่นที่ 1 นั้นบริษัท สยามมิชลิน จำกัดเป็นผู้สนับสนุนทั้งหมด จึงสร้างให้เกิดความพึงพอใจระหว่างบริษัทและนักศึกษา ขณะเดียวกันก็การันตีว่าบริษัทจะได้รับพนักงานที่มีคุณภาพเนื่องจากมีการปฏิบัติจริงลงมือจริงในโรงงาน แม้จะไม่ได้มีสัญญาผูกมัดเมื่อจบงาน แต่เด็กที่ฝึกแต่ละรุ่นจะเข้ามาทดแทนรุ่นพี่ที่จบไปทำให้ไม่เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานมีคุณภาพทำให้ทั้งผู้เรียนและสถานประกอบการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
สนใจพบคำตอบของ‘Career Academy’ VS ‘WiL’: 2 โจทย์พัฒนาแรงงานคุณภาพจากโลกโรงเรียนสู่โลกการทำงาน เพิ่มเติมได้ในเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวลครั้งที่ 32 เวลา 13.30-16.30 น. วันอังคารที่ 7 ตุลาคม 2557 นี้ โดยรับชมการถ่ายทอดสด และร่วมแสดงความเห็น ผ่านทางเว็บไซด์สสค www.QLF.or.th ทั้งนี้ท่านสามารถมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของท่านได้ทาง twitterสสค. @QLFthailand และ Facebook/QLFthailand (http://www.facebook.com/QLFthailand)
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)