การพัฒนาจิตเยาวชน แบบบูรณาการ
เด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่ถูกตามใจจนเคยตัว พ่อแม่เอาใจมากเกินไป ทำให้ขาดความอดทน ขาดวินัย คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจึงอยากให้ลูกปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังเด็ก จะได้เป็นคนมีคุณธรรม คิดดี ทำดี มีธรรมะเป็นภูมิคุ้มกันชีวิต แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าลูกจะทำได้ เพราะคงไม่ง่ายนักที่จะสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ อยากปฏิบัติธรรม หรือหาวิธีทำให้เด็กนั่งนิ่งๆ ได้นานเกิน 5 นาที
เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันมีโครงการที่น่าสนใจสอนให้เด็กฝึกปฏิบัติธรรมอย่างได้ผล การเข้าใกล้ธรรมะของเด็กๆ จึงอาจไม่ยากอย่างที่คิด คุณมณเธียร ธนานาถ ผู้รับผิดชอบโครงการปฏิบัติธรรมของเด็กและเยาวชน ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะมาแนะนำโครงการดีๆ และเล่าถึงประสบการณ์ฝึกเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาจิตเยาวชนแบบบูรณาการ
ความหมายของการพัฒนาจิตเยาวชนแบบบูรณาการ
ที่ผ่านมายุวพุทธิกสมาคมมีโครงการสอนเด็กปฏิบัติธรรม อย่างเช่น โครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนชื่อว่า โครงการสามเณรใจเพชร ที่มีมาตั้งแต่เมื่อ 17 ปีก่อน กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กผู้ชายอายุประมาณ 10 – 20 ปี จัดแค่กลุ่มเดียว ต่อมาได้แบ้งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เด็กเล็กและเด็กโต เพื่อจัดหลักสูตรให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น คือเด็กผู้ชายอายุ 9-13 ปีให้บวชเป็นสามเณรลูกแก้ว ซึ่งจะมีความเข้มข้นของหลักสูตรน้อยลง และมีระยะเวลาที่สั้นกว่า ส่วนในเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไป บวชเป็นสามเณรใจเพชร ซึ่งที่ผ่านมาจะรับเด็กผู้ชายเพียงอย่างเดียว จึงเริ่มคิดเพิ่มหลักสูตรของเด็กผู้หญิงและพ่อแม่ กลุ่มเด็กผู้หญิงมี 2 กลุ่มเช่นกัน คือกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 7-9 ปี และกลุ่มเด็กโต 10-18 ปีขึ้นไป และมีหลักสูตรการปฏิบัติธรรมสำหรับพ่อแม่ด้วย เนื่องจากสอนลูกอย่างเดียวไม่สอนพ่อแม่ เมื่อเด็กกลับไปปฏิบัติที่บ้าน พ่อแม่จะไม่เข้าใจ ถ้าพ่อแม่ได้เรียนรู้ไปด้วย ก็จะได้กลับไปทำที่บ้านด้วยกัน จึงเป็นที่มาของคำว่าบูรณาการ ซึ่งโครงการพัฒนาจิตเยาวชนแบบบูรณาการ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาจิตของเด็กและเยาวชนชาย-หญิง อายุ 7-25 ปี ตั้งแต่ระดับพื้นฐานด้วยการวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาเล่าเรียนและเป็นคนดีของสังคม
เด็กๆ คาดหวังอะไรในการปฏิบัติธรรม
ในการเข้าอบรมหลักสูตรนี้จะมีการปฐมนิเทศก่อนล่วงหน้า โดยจะแจ้งกฎระเบียบการอบรมให้ครอบครัวทราบ เช่น ไม่อนุญาตให้ออกจากโครงการก่อนครบระยะเวลาที่กำหนด ห้ามพกโทรศัพท์มือถือ ห้ามพบหรือติดต่อผู้ปกครองในระหว่างการอบรม ต้องตื่นนอนตอนตี 4 ทำกรรมฐานวันละประมาณ 8 ชั่วโมง ต้องสวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ฟังธรรม ถือศีล 8 กินน้อย นอนน้อย ทำความเพียรมาก เป็นต้น หลังจากนั้น จึงให้เด็กและครอบครัวกลับไปคิดก่อนตัดสินใจมาสมัคร ซึ่งเด็กที่อยากมาเข้าร่วมส่วนใหญ่ จะมีความคาดหวังว่าอยากเรียนหนังสือให้เก่งขึ้น และอยากให้พ่อแม่ภูมิใจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงจูงใจทำให้เด็กอยากเข้าร่วมการอบรม
สอนเด็กปฏิบัติธรรม สอนอย่างไร
การสอนเด็กปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การฝึกปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เข้าใจสิ่งที่สอนได้ดีขึ้น การเรียนจากการปฏิบัติจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจ ตามหลักสำคัญทางพุทธศาสนา คือ การลงมือปฏิบัติ ฝึกสติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนา จนเกิดปฏิเวธ คือ การเข้าใจ รู้แจ้งเห็นจริง การเกิดปริยัติ นั่นคือ หลักธรรมคำสั่งสอน เช่น ก่อนมาร่วมโครงการเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องความกตัญญู พอสอนให้ปฏิบัติกับพ่อแม่ไปแล้ว ได้ฝึกสติ สมาธิ จะทำให้เข้าใจเรื่องความกตัญญูจากข้างในจิตใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่า การสอนเด็กๆ นั้นทำได้ยาก แต่จรองๆ ถ้าสอนดีๆ เขาก็สามารถทำได้ ทางโครงการได้แบ่งเด็กที่มีลักษณะคล้ายกันออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กที่มีสมาธิดี สมาธิปานกลาง และกลุ่มเด็กสมาธิสั้น โดยใช้เด็กดูแลเด็กด้วยกัน เพราะเขาจะพูดภาษาเดียวกัน สื่อสารกันรู้เรื่อง ทำให้เด็กกล้าที่จะปรึกษาพูดคุยได้มากกว่าวิทยากรซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่า รุ่นพี่จะเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลแบบพี่น้อง พี่เลี้ยง 1 คนต่อเด็ก 10 คน จะคอยเป็นกำลังใจ เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะพาน้องก้าวผ่านความยากลำบากจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ ที่ผ่านมาสามารถฝึกเด็กสมาธิสั้นที่แม้แต่นาทีเดียวยังลืมตา จนสามารถหลับตาฝึกสมาธิได้นานถึง 15 นาที วันแรกๆ เด็กอาจรู้สึกอึดอัด และยังไม่ลงตัว เนื่องจากอาจถูกให้ทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เช่น ต้องตื่นแต่เช้า นั่งสมาธิ เดินจงกรม ต้องนั่งพับเพียบพนมมือตอนฟังธรรม เป็นต้น ทำให้มีกรอบในชีวิตมากขึ้น และคิดถึงบ้าน แต่หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน เด็กๆ จะปรับตัวได้และฝึกปฏิบัติได้ดีขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เมื่อเด็กฝึกปฏิบัติจนครบกำหนด จิตของเด็กจะใสสะอาดมากขึ้น เพราะธรรมะได้เข้าไปขัดเกลาจิตใจ ซึ่งในการเข้าอบรมพระอาจารย์จะสอนเด็กเรื่องความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เมื่อก่อนเวลาพ่อแม่สอนในสิ่งที่ไม่ควรทำ ลูกก็จะคิดว่าไม่อยากทำตาม และไม่รู้สึกเสียใจ แต่เมื่อเข้ากรรมฐานจะทำให้เด็กสามารถแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้อย่างชัดเจน ช่วยให้รู้สึกสำนึกผิด และเสียใจในสิ่งที่ตัวเองเคยทำกับพ่อแม่ เมื่อปิดโครงการจะเป็นวันที่พ่อแม่ภูมิใจที่ลูกสามารถทำสิ่งที่ยากได้สำเร็จ และรู้สึกประทับใจมากในพิธีรับลูกแก้วลูกขวัญกลับบ้าน เป็นวันที่พ่อแม่จะได้รับการขอขมาจากลูก จะได้เห็นภาพความประทับใจระหว่างพ่อแม่ลูก โดยลูกๆ จะคลานเข้าไปกราบที่เท้าของพ่อแม่แล้วกล่าวว่า ลูกขออโหสิที่ได้ล่วงเกินพ่อแม่ตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้ และให้ลูกกราบเท้าพ่อแม่ 3 ครั้งแบบแบมือ เพราะพ่อแม่เปรียบเสมือนพระอรหันต์ เป็นพระในบ้านของเรา กราบครั้งที่ 1 หมายถึงพ่อแม่เป็นบุคคลที่เรารักเคารพรักสูงสุด กราบครั้งที่ 2 หมายถึง ขอบพระคุณที่พ่อแม่ให้ชีวิตและทุกสิ่งทุกอย่างกับลูกจนถึงทุกวันนี้ กราบครั้งที่ 3 หมายถึง การขอขมาที่ทำให้ท่านเสียใจ ซึ่งพ่อแม่จะสัมผัสอารมณ์นี้ได้จากภายในจิตใจ แค่เพียบลูกพนมมือกราบ ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็จะน้ำตาไหล เพราะไม่เคยได้ยินลูกกล่าวขอโทษในชีวิต ทำให้เหมือนกับได้ลูกคนใหม่กลับบ้าน
จะทำให้เด็กเป็นคนดีตลอดไปได้อย่างไร
ในระยะยาว เมื่อกลับไปบ้านครอบครัวอาจจะมีโอกาสรักษาความสะอาดในจิตใจของลูกได้ยาก เพราะพวกเขาต้องกลับไปสู่สิ่งแวดล้อมเดิมๆ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจให้หลงระเริง พ่อแม่ถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะดึงลูกให้กลับมาสู่ธรรมะได้ด้วยการสวดมนต์ ทำบุญ ฟังธรรมตามโอกาส ให้ลูกได้มีโอกาสชำระจิตใจด้วยธรรมะอยู่เสมอ ยิ่งถ้าพ่อแม่ได้ปฏิบัติธรรมด้วย ก็จะช่วยชักนำลูกไปในทางที่ถูกที่ควรได้ดียิ่งขึ้น เด็กส่วนใหญ่ถ้าได้รับการขัดเกลาด้วยวิถีแห่งธรรมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต สามารถดูแลอารมณ์จิตใจตนเองได้ดี และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ผู้ที่สนใจต้องการเข้าร่วมกิจกรรมสามารถดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ www.ybat.org หรือ โทร. 02-455-2525
ที่มา : นิตยสารโฮม
update : 28-12-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน