การพนันในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก การประชุมวิชาการ “ก้าวย่าง บนทางเสี่ยง : การพนันในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป”
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th แฟ้มภาพ เเละสสส.
ไม่น่าจะเป็นคำกล่าวเกินจริงนักสำหรับประโยคที่ว่า “โจรปล้น 10 ครั้ง ยังเหลือบ้าน ไฟไหม้บ้าน 10 ครั้ง ยังเหลือที่ดิน เล่นการพนันครั้งเดียว ไม่เหลืออะไรสักอย่าง”
“การพนัน” จัดเป็นอบายมุขชนิดหนึ่งที่มีกลยุทธ์ในการหลอกล่อ ให้คนติดกับด้วยความรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน อยากได้ อยากเอาชนะ รู้ตัวอีกที ก็ถอนตัวไม่ขึ้น เกิดการเสพติด และปล่อยให้การพนันค่อย ๆ ทำลายชีวิต สร้างความหายนะต่าง ๆ ทั้งบ่อนทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิต อนาคต รวมทั้งส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว สร้างหนี้สิน และอาจลุกลามเลยเถิดไปจนกระทั่งเป็นปัญหาอาชญากรรม
จากผลสำรวจของโครงการศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2564 ของ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบว่า ในปี 2564 คนไทยเล่นการพนันมากถึง 59.6% หรือประมาณ 32.33 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.9 ล้านคน จากปี 2562 ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เล่นพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา หรือเรียกว่า “นักพนันหน้าใหม่” เกือบ 8 แสนคน
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการประชุมวิชาการ “ก้าวย่าง บนทางเสี่ยง : การพนันในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป” โดยความร่วมมือของสสส.-ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน-มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน-สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และข้อค้นพบจากงานวิจัยสู่สาธารณะ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชี้ให้เห็นแนวทางรับมือกับปัญหาการพนันซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและสังคม ร่วมนำเสนอนโยบาย มาตรการ หรือกลไกที่เหมาะสมในการจัดการกับการพนันในสังคมไทย โดยเฉพาะการปกป้องกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือเด็กและเยาวชน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 มีการประกาศล็อกดาวน์ ห้ามรวมกลุ่ม ห้ามมั่วสุม แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนรวมตัวเล่นการพนัน ก่อให้เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ การตั้งวงพนันยังพ่วงด้วยกิจกรรมทางสังคม การพูดคุย การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ทำให้บ่อนพนันเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้ง่าย กว่า 2 ปีที่ผ่านมาโควิด-19 มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก ผู้คนเปลี่ยนวิถีไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การพนันออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด มีจำนวนผู้เปิดบัญชีใหม่เพื่อเข้าเล่นพนันในเว็บไซต์จำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของปัญหาการพนันเพิ่มขึ้นตามมา
“สสส. สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แบบเท่าทัน ผลักดันให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกัน พัฒนาผลักดันการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกลไกการควบคุม ป้องกัน ลดปัญหาที่เกิดจากการพนัน การประชุมครั้งนี้จะชี้ให้เห็นถึงปัญหา และแนวทางรับมือกับปัญหาพนัน นำไปสู่การออกแบบนโยบาย มาตรการ ผลักดันให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญของปัญหา กำหนดให้การป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงให้มีกลไกของหน่วยงานภาครัฐเป็นเจ้าภาพหลักในการทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ดร.สุปรีดา กล่าว
รศ. วิทยากร เชียงกูล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การพนันหลายคนถือเป็นเกมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ หรือเล่นแค่เสี่ยงโชคเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่อาจไม่ทันได้ระวังความเสี่ยงที่จะติดการพนันในระยะยาวได้ โดยเฉพาะคนที่เล่นบ่อย เล่นอย่างต่อเนื่อง เล่นแล้วเลิกไม่ได้ ถ้าไม่ได้เล่น ก็จะรู้สึกกระวนกระวาย และเมื่อติดการพนัน ก็จะสร้างปัญหาและความเสียหายหลายด้าน ทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ การเรียน การทำงาน และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นหนี้สิน มีปัญหาทางการเงิน การทุจริต และการก่ออาชญากรรมได้
แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาติดการพนัน
1.อธิบายให้เข้าใจถึงเหตุและผล โดยใช้สื่อที่เกี่ยวกับผลเสียของการหลงผิดเรื่องการพนัน
2.ส่งเสริมพัฒนาจิตวิทยาเชิงบวก ทำให้คนมีความเข้มแข็ง รู้จักควบคุมจิตใจ อารมณ์ และแก้ไขปัญหาเป็น
3.จัดตั้งหน่วยงานให้คำปรึกษา โดยนักบำบัดเยียวยา ทั้งทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ เปิดให้บริการ 24 ชม. ในการให้คำปรึกษา
4.ในระดับประเทศ ควรมีสถาบันที่เป็นกลาง เป็นหน่วยงานอิสระ จัดตั้งขึ้นป้องกันและเยียวยาปัญาหาการเสพติดและการพนัน ที่มีหน่วยบริการให้คำปรึกษาได้อย่างทั่วถึง
นายธาม เชื้อสถาปนศิริ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า การพนันยุค 2.0 การที่รัฐประกาศให้เล่นได้ เป็นสิ่งถูกกฎหมาย เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งภาครัฐเปรียบเหมือนเจ้ามือใหญ่ และในยุคปัจจุบัน ยุค 4.0 คือการพนันที่อยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต เล่นที่ไหนก็ได้ เข้าถึงคนได้ง่าย เล่นกันบ่อนไหน เว็บไหนก็ได้ คำถามที่ว่าเราควรจะมีบ่อนเสรีถูกกฎหมายไหม ผมว่ามันช้าไปแล้ว เพราะทุกวันนี้การพนันเข้าสู่ยุคออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบแล้ว
น้องเอ นามสมมุติ เยาวชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพนัน กล่าวว่า ผมรู้สึกเสียใจกับการกระทำของตนเองว่าทำไมผมต้องมาเจออะไรแบบนี้ ติดหนี้จากการพนัน มีความเครียดมาก มีปัญหาสุขภาพ จนต้องไปหาหมอ แต่ท้ายที่สุดแล้ว พอผมมาพิจารณาดูแล้วปัญหามันเกิดจากตัวเรา ผมอยู่กับยายสองคน แต่ก็ไม่กล้าบอกยาย กลัวยายไม่สบายใจ แต่โชคดีที่มีตัวช่วยเรื่องการปรึกษาปัญหาพนัน ทำให้เรากล้าพูดเรื่องที่เราไม่สบายใจ ทำให้โล่งใจขึ้น
อยากฝากถึงเยาวชนที่คิดจะเล่นการพนันออนไลน์ไม่มีมีใครได้ดีจากการพนัน มีแต่ผลเสีย เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เสียทั้งสุขภาพ ปัญหาที่จะเกิดมันกระทบกับชีวิตของเราทุกด้าน ไม่อยากให้ใครต้องมาพลาดจากการพนันเหมือนผมอีก อยากจะฝากให้รัฐช่วยป้องกันให้การเข้าถึงการเข้าถึงการพนันออนไลน์เป็นไปได้ยากขึ้น ภาครัฐควรให้ความรู้ ความเข้าใจถึงโทษภัยการพนัน เพื่อไม่ให้มีใครต้องตกเป็นเหยื่อการพนันอีก น้องเอ กล่าว
สสส. ขับเคลื่อนการทำงานข้อเสนอนโยบายสาธารณะ และมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาการพนันมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความตระหนักในสังคม ป้องกันการเกิดนักพนันหน้าใหม่ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชน ได้มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันกลยุทธ์การพนันในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ตกเป็นเหยื่อของการพนันได้ง่าย ๆ
สุดท้าย ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน หรือเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาให้ล้ำสมัยอย่างไร “การพนัน” ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ไม่เคยให้ประโยชน์กับใครได้จริง ไม่เคยมีใครสร้างเนื้อสร้างตัว หรือมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงได้จากการเล่นพนันเป็นอาชีพ ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่เดิมพันไป ไม่ใช่แค่ทรัพย์สิน แต่หมายถึงการเดิมพันด้วยเวลา ความรู้สึก อนาคต และบางครั้งเมื่อผลของการเดิมพันนั้น ย้อนกลับมาทำลายเรา นั่นอาจหมายถึงการสูญเสียแทบทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิต