“การปรับตัว การให้โอกาส และการเปิดกว้าง” มุมมองนักบริหารรุ่นใหม่

                    “การปรับตัว การให้โอกาส และการเปิดกว้าง” เป็นหลักการสำคัญที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งของผู้บริหารยุคใหม่ในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งเราได้รับจากการสนทนากับ ดร.นพ.ไพโรจน์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เขาเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกคนและมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนสามารถเติบโตไปพร้อมกันในองค์กร

                    ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาวิชาชีพใด เรามักจะมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานบริหาร ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายและไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แม้จะไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ แต่ผู้บริหารจำเป็นต้องมีหลักการและทัศนคติที่ชัดเจน รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการพัฒนางานและคนให้สอดคล้องกัน โดยผลลัพธ์ที่ได้ต้องเป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย การสนทนาต่อไปนี้จะเป็นการเจาะลึกถึงหลักการบริหารของผู้ที่มีบทบาทในการดูแลคนทำงานเพื่อสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงการเติบโตและประสบการณ์ที่ ดร.ไพโรจน์ สั่งสมมา

                    ไม่จำเป็นต้องเก่งไปทุกเรื่อง แต่ต้องเป็นคนเปิดกว้าง

                    ก่อนอื่นอยากทราบว่าสำหรับคุณหมอแล้ว สุขภาพสำคัญอย่างไร

                    ถ้าในความเข้าใจของคนทั่วไป การไม่เจ็บไม่ป่วยคือสุขภาพดี เราสังเกตว่า สุขภาพ หรือสุขภาวะจะพูดถึงเรื่องทางร่างกายเป็นสำคัญ แต่โดยความหมาย สุขภาพหรือสุขภาวะจะครอบคลุมถึง 4 มิติ ทั้งสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งจะดูไปถึงการคิด การมองโลก ทัศนคติเกี่ยวกับภายนอก อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้นการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. และของประเทศไทยในขณะนี้ เราไม่ได้พูดแค่การเจ็บป่วย การไม่มีโรค แต่หมายถึงการมีสุขภาพในทุกๆ มิติที่สมดุลกัน

                    อยากให้เล่าให้ฟังถึงเส้นทางการไปเป็นนักเรียนแพทย์ จนได้เป็นคุณหมอให้ฟังหน่อย

                    เรามองภาพของหมอที่เราเห็นในวัยเด็ก ตอนเด็กๆ เราไปหาหมอที่โรงพยาบาล ได้รับการดูแลรักษา ผ่านการพูดคุยหรือที่เรียกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กๆอย่างเรา เลยเกิดภาพจำ แล้วเราก็ได้รับการบอกกล่าวอยู่ตลอดว่าเป็นหมอดีอย่างไร มันถูกฟูมฟักโดยอัตโนมัติ รวมถึงมีญาติที่เป็นหมอด้วย เขาก็ส่งต่อความรู้ หรือบางทีให้ความเห็นกับเราว่า ควรทำนั่น ทำนี่ เราเลยมองภาพนี้เป็นเชิงบวกทั้งหมด ซึ่งก็ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเอง กลายเป็นความฝันว่าอยากเป็นหมอ

                    และถ้าฝันแล้วไม่ทำมันก็จะเป็นแค่ฝัน พอรู้ว่าตั้งเป้าหมายแล้ว เพราะฉะนั้นตอนเรียน เราก็ต้องพัฒนาตัวให้เหมาะสมที่จะเข้าไปเรียนให้ได้ ต้องพัฒนาตัวเอง จากที่ไม่ได้เรียนเก่งมาก ก็รู้สึกว่าต้องพัฒนาตัว สอบเข้าไปให้ได้ พอเข้าไปแล้วก็ต้องรู้ว่าควรเรียนอย่างไร พัฒนาทั้งความรู้ สติปัญญา และเรียนรู้สังคมควบคู่ไปด้วย

                    ใคร ๆ ก็ติดภาพจำว่า จะเรียนหมอได้ต้องเก่ง เป็นหัวกะทิ สอบได้อันดับหนึ่งของห้อง ตอนนั้นคุณหมอเป็นแบบนั้นไหม

                    ก็เป็นภาพหนึ่งที่ทุกคนจะคิดอย่างนั้นว่า คนเรียนหมอมักจะเป็นคนเก่ง เอาแต่อ่านหนังสือ ผมไม่ได้เถียงนะ แต่ถ้าโดยประสบการณ์ส่วนตัว คิดว่าเพื่อนที่เข้าไปเรียนด้วยกัน ส่วนใหญ่รู้จักการปรับสมดุลชีวิตมากกว่า

                    รู้จักแบ่งเวลาอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เล่นดนตรี ทำกิจกรรมสันทนาการ จุดหนึ่งที่ผมคิดว่าทุกคนมองเห็นร่วมกันเป็นส่วนใหญ่คือการรู้ว่าเวลาไหนควรจะทำอะไร เวลาเรียนคือเรียน เวลาเล่นคือเล่น อันนี้เป็นลักษณะภาพทั่วไป ผมเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นเฉพาะนักเรียนแพทย์ หรือนักเรียนสาขาอื่น หลายคนในชีวิตเราก็คิดว่าเป็นแบบนี้ทั้งนั้น

                    แล้วมีภาพในฝันไว้ไหมว่า อยากโตไปเป็นคุณหมอแบบไหน

                    เราอยากเป็นแบบหมอที่เราเคยตรวจเราตอนเด็ก ที่สุขุม แต่ก็เฟรนด์ลี่ แล้วก็ไม่ได้มีภาพว่าจะต้องเป็นคนดุ เกรี้ยวกราด มันไม่ได้อยู่ในภาพฝันผมเลย ตอนเด็กๆ จะเคยเห็นในละครหรือมีคนเล่าว่า มีภาพหมอดุๆ เราก็สงสัยว่าจริงเหรอเพราะไม่เคยเจอ แต่ตอนไปเรียนก็คงมีบ้าง เราก็เลยพยายามจะไม่ทำสิ่งที่เราไม่ชอบ สิ่งไหนเราไม่อยากเห็น เราก็ไม่เอามาทำ

                    แล้วเวลาที่คนทั่วไปมองว่าหมอเป็นอาชีพที่ทำงานคนเดียว คนไข้เข้าไปพูดคุย วิเคราะห์โรค รักษาได้ จริง ๆ แล้วเราทำงานคนเดียวไหม

                    ไม่เลย อาชีพหมอเป็นการทำงานเชื่อมศาสตร์หลายสาขาและต้องใช้ศิลปะด้วย ที่สำคัญต้องมีทีม เราไม่สามารถทำได้เองแบบวันแมนโชว์ อาจจะสำเร็จในบางจุด บางสถานการณ์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นความร่วมมือ ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะไปหาหมอ ก่อนจะเจอหมอ ต้องเจอใครบ้าง เจอพยาบาล เจอพนักงานห้องทำบัตร คนคัดกรอง หรือเจ้าหน้าที่ที่จะช่วยเรา ทั้งหมดต้องเป็นทีม

                    เขารู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทุกคนถูกแบ่งงานมาแล้ว มีความรับผิดชอบ ทุกคนมีเป้าเดียวกัน ทำอย่างไรให้คนเข้ามาแล้วสุขภาพดี กลับไปไม่ป่วยไม่เจ็บ

                    เพียงแต่ว่าเราได้รับมอบหมายในการทำกิจกรรมที่สำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นไม่สำคัญ ทั้งหมดนี้คือบริบทที่จะเสริมให้งานนี้สำเร็จ

                    คนหนึ่งคนไม่ได้มีบทบาทเดียว

                    นอกจากการเป็นหมอ เคยได้ยินว่าตอนเด็กๆ คุณหมอมักได้รับหน้าที่บทบาทอื่นๆ อย่างการเป็นผู้นำอยู่บ่อยครั้ง อยากให้เล่าถึงประสบการณ์เหล่านั้นหน่อย

                    เหมือนเด็กทั่วไปที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้องบ้าง หรือประธานนักเรียนบ้าง แล้วเวลาทำงานในห้องเรียน ก็เป็นหัวหน้าทีมบ้าง ถือว่าเป็นกิจกรรมเรียนรู้ในวัยเด็ก บางทีเราไม่รู้หรอกว่า ของพวกนี้มันสำคัญ ตอนเด็กๆ เราก็มองไม่เห็นหรอกว่ามันช่วยอะไร แต่มองกลับไปนั่นคือการฝึกนะ หลายๆ เรื่องฝึกการตัดสินใจ การได้ช่วยเหลือตัวเอง ได้ทำนั่นทำนี่ อาจไม่ได้สมาร์ตหรือถูกตำราที่สุด แต่ในกระบวนการมันได้ฉุกคิด เกิดการตั้งคำถาม  อย่างเช่นตอนที่ต้องทำงานกับพี่ที่โตหรืออายุมากกว่า คุยกันได้แบบพี่ๆน้องๆ ทำให้แม้จะอายุน้อยกว่า แต่ก็ได้รับความร่วมมือ  เพราะเราคุยกันได้หมด ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี  ทุกวันนี้เจอกันก็ยังทักทายกันอยู่ แม้จะห่างไกลกัน ต่างคนต่างมีอาชีพ แต่เวลาเจอกันไปก็สัมพันธ์กันได้ อีกอย่างอาจเป็นเพราะสังคมวัฒนธรรมไทยเรา ซึ่งตอนนั้นผมไม่ได้คิดหรอกว่า เราจะคุมใครได้หรือไม่ได้ ยังดีที่มีครูคอยช่วยแนะนำ มันก็เหมือนกับเป็นการเรียนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเวลาจบมา เราพบว่าตรงนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

                    เวลาทำงานในโรงพยาบาล ก็มีพี่เจ้าหน้าที่ที่อาวุโส มีรุ่นพี่คอยช่วยแนะนำ บางทีเราก็ต้องเป็นหัวหน้าทีม แล้วทุกคนในทีมอาวุโสกว่าเราทั้งนั้น แต่เราจะทำงานอย่างไรกับผู้อาวุโส โดยที่เราอายุน้อย ศิลปะจากประสบการณ์ตอนเราเด็กๆ นี่แหละที่มาช่วยพูดคุย จะมอบงานหรือตามงานอย่างไรให้ไม่ชอกช้ำ

                    แล้วคุณหมอเริ่มก้าวเข้าสู่ฟิลด์การบริหารงานตั้งแต่เมื่อไหร่

                    จริง ๆ เราทำงานบริหารมาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่ามันไม่ได้หายไป เป็นหมอก็ต้องทำงานบริหาร เช่น เป็นหัวหน้าทีม หัวหน้าคณะทำงานต่างๆ ในโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งทำวิจัย แต่ถ้าพูดถึงก่อนมาเป็นผู้บริหารใน สสส. ผมก็เป็นหมอแล้วไปเรียนปริญญาเอกที่ทำงานวิชาการเป็นหลัก หลังจากนั้นเราคิดว่าเราตกผลึกพอสมควร มีประสบการณ์ระดับหนึ่ง ก็ขยับขยายมาอยู่ในบทบาทของผู้บริหารมากขึ้น ซึ่งค่อยๆ ขยับมาเรื่อยๆ โดยธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลงานของเรา ทักษะของเรา และความเห็นพ้องจากคนอื่นที่เราได้รับการยอมรับ

                    งานบริหารกับงานรักษาคนไข้ มีตรงไหนที่เหมือนหรือแตกต่างกัน

                    ความเหมือนกันของสองงานนี้คือ ต้องทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ รักษาคนไข้อย่างไรให้สำเร็จ คือทำให้เขาหาย ทำให้เขาไม่ป่วยกลับมาอีก ทำให้เขามีความสุข การบริหารก็เหมือนกัน บริหารคือทำงานได้สำเร็จ การทำงานให้สำเร็จก็คือมีเป้าหมาย รู้ว่าจะทำอะไร ใช้ทรัพยากรอะไร สองอย่างนี้เหมือนกันเลย ชีวิตคนจะทำอย่างไรให้เขาดี ก็ต้องมาดูว่าเขาจะดีได้จากอะไรบ้าง ต้องใช้ยาอะไรที่เป็นตัวเสริม การทำงานก็เหมือนกัน ยกตัวอย่างจะพัฒนาโครงการใดสักโครงการ ไม่ใช่อยู่ดีๆ อยากทำอะไรก็ทำ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์อะไร ต้องใช้ใครมาทำบ้าง แล้วมีตัวสนับสนุนอะไร เราต้องวางเป็นแผนออกมา มันคล้ายกันเลย เพียงแต่เป้าหมายคนละแบบ

                    แน่นอนว่าการรักษาคนไข้ เรามีวิชาที่ร่ำเรียนมา แต่การบริหารที่ไม่มียาสำเร็จรูป แล้วคุณหมอทำอย่างไร

                    ต้องปรับตัว เพราะมันมีความแตกต่าง ซึ่งก็พูดยาก เพราะว่าต่างกันหลายมิติ กับการรักษาคนไข้ เราต้องพบเจอกับคน สัมผัสกับชีวิต จิตใจ ความเจ็บปวดรวดร้าว มีความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนการบริหารสมัยใหม่ เราไม่ได้ดูแค่เรื่องผลงาน เราต้องดูคนทำงานด้วย ซึ่งถามว่าคนทำงานมีชีวิตจิตใจไหม พวกเขาก็มีชีวิตจิตใจ รู้ร้อนรู้หนาว รู้ทุกข์รู้สุข เพราะฉะนั้นบางทีมันมีเส้นบางๆ ที่แยกกันยาก บางทีหลายๆ เรื่องในการบริหารงาน แม้จะเป็นชิ้นงานเป็นโปรเจกต์ก็ตาม ถ้าเราใส่ใจความเป็นมนุษย์ เห็นทุกคนมีชีวิตจิตใจ การบริหารจะเป็นอีกแบบหนึ่งนะ

                    แล้วเวลาเจอภาวะของการไม่ถูกยอมรับ โดยเฉพาะตอนที่เข้าไปทำงานในทีมหรือสถานที่ทำงานใหม่ คุณหมอใช้หลักคิดวิธีจัดการแบบไหน

                    ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องไปรู้สึกทุกข์อะไรมาก เพราะเราจะทำงานให้ทุกคนถูกใจทั้งหมดไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องกลับมาดูตัวเองว่า เราตั้งเป้าแบบไหนไว้ มีกระบวนวิธีทำงานหรือไม่ ใส่ความตั้งใจเต็มที่หรือยัง ถ้าเต็มที่แล้วก็ต้องยอมรับผล สุดท้ายจะดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องสุดวิสัย

                    แต่ก่อนจะเข้าไปทำงานกับใครใหม่ๆ เราก็ใช้หลักธรรมพระพุทธเจ้า จะทำอะไรต้องรู้ก่อนว่ามีใครอยู่บ้าง หลักงาน หลักคน หลักเหตุและผล ควรรู้ว่าจะคุยกับใครเมื่อไหร่อย่างไร เพราะถ้าเราจัดวางอย่างนี้ได้ มันจะคล้ายการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อ แล้วจะทำงานง่ายขึ้น

                    พอมีอะไรเกิดขึ้นเราจะรู้ แล้วก็ใช้ต้นทุนของสังคมไทยที่มีความเมตตากรุณาเป็นเรื่องปกติ ลองพูดคุยกันก่อน เปิดใจคุยกัน ถ้ามีปัญหาก็ลองดูเกิดอะไรขึ้น งานคืองาน แต่ทั้งนี้หลายๆครั้ง เรามักเจอปัญหาคนกับปัญหางานพ่วงกัน บางทีงานจบคนไม่จบ เราคงห้ามไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราทำให้เห็นว่าเราจบในงานแล้ว

                    บริหารไปพร้อมกับการเรียนรู้

                    คุณหมอมีนิยามการบริหารในแบบฉบับของตัวเองอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ในยุคนี้

                    พอเราบอกว่ารุ่นใหม่ มันจะมีทัศนคติหนึ่งที่เหมือนกับคนรุ่นเก่าใช้ไม่ได้ แต่ผมไม่ได้มองอย่างนั้น ผมรู้สึกว่าทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ที่อยู่ในหน้ากระดานเดียวกัน ทุกคนเรียนรู้ประสบการณ์แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นทุกคนย่อมมีข้อดีข้อเด่นที่เราดึงมาเสริมศักยภาพ วิเคราะห์ให้เป็นแล้วใช้ให้ถูกได้ ในบางสถานการณ์ใช้คนรุ่นใหม่ที่อาจจะมีมุมมอง เทคโนโลยีที่ดี เรียนรู้ได้เร็ว ในขณะที่บางงาน คนที่อาจมีศักยภาพจำกัดในบริบทใหม่อาจจะเหมาะก็ได้

                    เพราะฉะนั้นผมไม่ได้บอกว่าวิธีคิดแบบใหม่คือจะเอาคนรุ่นใหม่นะ แต่เป็นการคิดที่มองถึงเป้าหมายเป็นสำคัญ แล้วเลือกใช้คน ดูศักยภาพที่มาเติมเต็มกัน เพื่อทำให้ทุกคนอยู่กันได้อย่างมีความสุข ผมไม่รู้ว่านี่คือวิธีคิดแบบใหม่หรือเปล่า แต่รู้สึกว่ามันใช้ได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าตอนไหนก็ใช้ได้

                    การเป็นทีมมีความสำคัญอย่างไรในการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งร่วมกันไว้

                    ทีมคือการรวมคนมาทำให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะฉะนั้นการรวมคนคือการบริหารจัดการคน ทั้งแบ่งงานกันทำ รู้ศักยภาพของคน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อที่จะทำงานบางอย่างให้สำเร็จ ไม่ใช่มารวมตัวนั่งคุยเฉยๆ ยิ่งถ้าเราเห็นเป้าหมายการรวมพล มีการวางเป้าหมาย แบ่งงานว่าใครจะทำอะไร ต้องไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม นี่คือลักษณะของการจัดทีม และต้องไม่ใช่แค่มองเฉพาะภายในด้วย ต้องดูว่าภายนอกทีม เขากําลังทำอะไรกัน แล้วก็ใช้ศักยภาพของทีมเราไปจัดการ

                    อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานเป็นทีม

                    ผมคิดว่าการเข้าใจคนสำคัญที่สุด เราต้องเข้าถึงใจลูกทีมให้ได้ว่าเขาคิดอะไรรู้สึกอย่างไรอยู่ แต่บางคนก็ไม่อยากเปิดเผยตัวเองว่า ฉันคิดอะไร จะทำอะไรอยู่ ตรงนี้ที่เป็นเรื่องยาก เพราะถ้าเข้าใจคนทำงานได้ ผมว่าบริหารทีมไม่ยาก

                    ถ้าให้อธิบายตัวเองในฐานะผู้บริหาร คุณหมอคิดว่าเราเป็นผู้บริหารแบบไหน เข้มงวดหรือประนีประนอม

                    ผมเป็นคนประนีประนอม แต่หลายเรื่องก็ต้องสู้ หลายเรื่องต้องรับฟังเฉยๆ แต่บางทีบทบาทผู้บริหาร การจะนิยามว่าคนไหนเป็นแบบไหนมันยาก บางทีต้องนิยามตามสถานการณ์ว่า ตอนนี้คุณต้องสู้ต้องรบ ต้องเถียง บางช่วงคุณต้องรับฟัง แต่บางช่วงคุณต้องรอบคอบเป็นพิเศษ คนเป็นผู้บริหารต้องรู้จังหวะ

                    ทราบมาว่างานอดิเรกของคุณหมอคือการวิ่ง อยากทราบว่าการวิ่งให้บทเรียนอะไรในเรื่องการทำงานบริหารบ้างไหม

                    คล้ายแต่ไม่เหมือน การวิ่งคือการทดสอบจิตใจ ทำไปเรียนรู้ไป แล้วก็ต้องซ้อม เพราะการซ้อมสำคัญกับการวิ่งระยะไกลๆ คุณจะคิดว่ามีปาฏิหาริย์ทุกเรื่อง ฉันทำได้ ฉันมุ่งมั่น แต่ถ้าต้นทุนศักยภาพคุณไม่มี ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ

                    เปรียบเทียบเหมือนกับงานใหญ่ๆ ทำไมเราต้องเอาคนที่ต้องไปเรียน ไปเทรนมา ต้องเคยมีประสบการณ์มาทำ การซ้อมการฝึกเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก และที่เหลือคือใจ วิ่งมาราธอนเมื่อถึงจุดหนึ่งร่างกายจะไม่ไหว มันอยู่ที่ใจล้วนๆ เพราะฉะนั้นกับโครงการใหญ่ๆ บางทีก็ถึงจุดหนึ่งที่ทำทุกอย่างหมดแล้ว ที่เหลือมีแต่ใจอย่างเดียว เราก็ต้องสู้เพื่อให้งานสำเร็จ

                    หลักการทำงานหรือหลักใช้ชีวิตอะไรที่คุณหมอยึดไว้เป็นอันดับหนึ่งมาเสมอ

                    หนึ่งเดียวเลยคือ ผมรู้สึกว่าเราฝึกได้ เรียนรู้ได้ ผมไม่เคยรู้สึกว่า เราทำไม่ได้ เพียงแต่ว่าเรายังไม่เรียนรู้กับมัน ถ้าเรียนรู้แล้วเรารู้สึกว่า ศักยภาพร่างกายเราไม่พร้อม ให้มองว่านั่นคือข้อจำกัด แต่ในกระบวนการใช้ชีวิตเราต้องเรียนรู้ ก็เหมือนกับที่ผ่านมาเราเรียนในโรงเรียน จากนักเรียนทั่วไปแล้วมาเป็นหมอได้ จนเรามาทำผู้บริหารได้ เราทำวิจัยได้ มันเกิดจากเรียนรู้ และในขณะเดียวกัน การทำงานบริหารจะมีมุมมองใหม่ๆ เกิดขึ้นให้เราเรียนรู้อยู่เสมอ

                    ก่อนจากกัน คุณหมออยากให้คนรอบตัวและคนที่ทำงานด้วย จดจำคุณหมอในฐานะอะไร

                    ก็อยากให้เห็นเราเป็นคนปกติที่หาจุดสมดุลชีวิตเจอ ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตงาน แล้วก็ใส่ใจสุขภาพในทุกมิติ เพราะเป้าหมายของเราไม่ได้มีแค่สุขภาพอย่างเดียว เรามีเพื่อนฝูง มีสังคม ซึ่งอันนี้มันเป็นสุขภาพโดยภาพรวมด้วย แต่ทั้งนี้ผมต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรามองในระดับบุคคลแล้ว ถ้าคุณเริ่มคิดแล้วเริ่มพยายามทำเลย คุณทำได้นะ ไม่ใช่อยู่ในความฝัน

                    ถ้าเริ่มทำแล้วคุณทำได้แน่ๆ เราจะต้องกล้าเปลี่ยนตัวเอง กล้าปรับตัวเอง แล้วทำให้เป็นวิถีชีวิต ไม่เสแสร้ง มันคือการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งจะผนวกรวมทั้งการมีสุขภาพ แล้วก็ได้งาน ได้ทำในสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้

Shares:
QR Code :
QR Code