การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการจัดการศึกษาด้วยตนเอง
เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่มเพื่อนปฏิรูป มีนพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานได้หยิบยกประสบการณ์การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการจัดการเชิงพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์ จันทบุรี และลำพูน
สุรินทร์ นับเป็นจังหวัดที่แก้ปัญหาเด็กออกกลางคันอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นจากการสำรวจสถิติเด็กออกกลางคันในช่วงปี 2554-2555 ที่มีสูงถึง 564 คน สาเหตุจากปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาครอบครัว ยากจน และยาเสพติด ทำให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่าย นำมาสู่การระดมบุคลากร เพื่อทำงานร่วมกันของ 5 ภาคีเครือข่าย ทั้งเด็ก ผู้ปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน เรียกว่า Star Strategy และนำร่องใน 6 อำเภอ ทั้งปราสาท กาบเชิง พนมดงรัก สังขะ บัวเชด และศรีณรงค์
ส่วนจังหวัดจันทบุรี เจาะปัญหาเด็กในชุมชนกองขยะที่อยู่ใจกลางเมืองของจังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์รวมของหลายปัญหา โครงการนี้จึงนำร่องที่ชุมชนเนินเอฟเอ็ม หรือชุมชนย่อยที่ 10 เทศบาลเมืองจันทบุรี โดยออกแบบ 12 หลักสูตร สำหรับเด็กในชุมชนที่นี่โดยเฉพาะ ที่สำคัญขับเคลื่อนด้วยโมเดล “จิตอาสาพัฒนา” โดยครูสอนดีที่มีกว่า 150 คนของจังหวัดต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าทำกิจกรรมการสอนทุกวันเสาร์อาทิตย์ในชุมชนแห่งนี้
ครูรจนา เมธาวัลย์ หนึ่งในครูสอนดีจากรร.เทศบาลขลุง 1 เล่าประสบการณ์ว่า จากการเข้าไปทำกิจกรรมการสอนที่ชุมชนพบเด็กมีพัฒนาการด้านดีอย่างเห็นได้ชัด จากที่พูดไม่เพราะ ไม่กล้าแสดงออก มาเป็นสนุกกับการทำกิจกรรมกับครู และมีความสุภาพมากขึ้น ที่สำคัญได้ดึงเด็กจากโรงเรียน ซึ่งเป็นรุ่นพี่มาช่วยสอนน้องในชุมชน สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และบ่มเพาะจิตอาสาให้เด็กกลุ่มนี้ด้วย
ทองสุข รวยสูงเนิน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดสุรินทร์ ระบุว่า เริ่มต้นการทำงานด้วยการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของเด็กก่อน และติดตามเด็กถึงบ้าน โดยมีทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือ ขณะเดียวกันได้สร้างทางเลือกให้เด็ก นอกจากจูงใจให้ “เด็กหลุด” กลับมาเรียนในโรงเรียนแล้ว ยังมีระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน) รวมถึงการฝึกอาชีพระยะสั้นเป็นทางเลือก เพื่อให้มีความรู้ติดตัว และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว เนื่องจากเด็กบางกลุ่มไม่พร้อมกลับมาเรียนในระบบ นอกจากนี้ยังนำข้อมูลของเด็กที่มีการสำรวจไปใช้ในการเฝ้าระวังไม่ให้เด็กออกกลางคันเพิ่มด้วย
ดร.วิวัฒน์ เพชรศรี คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวัดจันทบุรี เสริมว่า การที่เด็กในชุมชนย่อยที่ 10 มีพัฒนาการที่ดีจากกิจกรรมการสอนด้วยจิตอาสา ช่วยนำพาให้เด็กชุมชนห่างไกลปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะยาเสพติด สร้างชุมชนให้เข้มแข็งตามไปด้วย
เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา นอกจากใส่ใจเด็กในชุมชนกองขยะที่ขาดโอกาสแล้ว จังหวัดจันทบุรียังให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กที่บกพร่องในการเรียนรู้(แอลดี) ที่มีกว่า 3,000 คน โดยให้เด็กมาทำกิจกรรมเข้าค่าย เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานดูแลเด็กพิเศษระหว่างเด็ก ครู และผู้ปกครอง ซึ่งการส่งเสริมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กกลุ่มนี้มีศักยภาพหลากหลายหากได้รับการสนับสนุน
สำหรับลำพูน พื้นที่ซึ่งเป็นเหรียญสองด้านระหว่างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมพื้นถิ่นอันทรงคุณค่า ทำให้ที่นี่ต้องผสมผสานการทำงานในหลายมิติ
นางเกษร กาญจนาธิวัฒน์ นักวิชาการสาธารณสุข เล่าว่า ลำพูนมีปัญหาเด็กเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น เช่น ท้องก่อนวัย และต่อเชื่อมไปถึงโรคเอดส์ที่ยังคงมีผู้ป่วยรายใหม่เข้ามา ลำพูนจึงดึงปัญหาเด็กออกมาเป็นตัวตั้ง จากนั้นจึงมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็ก และมุ่งเน้นพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อมีชีวิตที่มั่นคงในท้องถิ่น ควบคู่กับการสร้างทักษะชีวิต เพื่อให้ประครองชีวิตได้อย่างเหมาะสม
ศ.นพ.ประเวศ สรุปความเห็นช่วงท้ายว่า ประสบการณ์ 3 จังหวัด ทำให้เห็นว่า เมื่อมีการถักทอการทำงานเต็มพื้นที่ ซึ่งมาจากนำพื้นที่เป็นตัวตั้ง จากเดิมที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ซึ่งไม่มีการถักทอ ไม่มีพลัง เกิดการรั่วไหล การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องไม่เอากระทรวงศึกษาธิการเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเป็นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ พร้อมให้ทุกคนช่วยกันสร้างคุณค่าคนจากการทำงาน จากเดิมที่วางคุณค่าคนไว้ที่คนท่องหนังสือเก่ง ทำให้คนที่เหลือไม่มีเกียรติ และศักดิ์ศรี การศึกษาจึงสร้างความทุกข์ให้ผู้คนมาโดยตลอด
นฤวุฒิ นิรุตติพงศ์ รองปลัดอบจ.ลำพูน คณะกรรมการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้ จ.ลำพูน เล่าว่า ลำพูนยังมุ่งพัฒนาทักษะอาชีพให้กับเด็กที่ต้องออกกลางคัน ให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวโดยร่วมมือกับอาชีวศึกษาและภาคเอกชน รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลเด็กเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา โดยร่วมกับหน่วยงานการศึกษา ท้องถิ่น และอาสาสมัครประจำรพ.สต.ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลรายครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลภาพรวมของทั้งจังหวัดที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งจากการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่อยู่ในแวววงการศึกษาและนอกแวววงการศึกษาต่างสะท้อนตรงกันว่า การพัฒนาเด็กและเยาวชนต้องร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน จึงก่อให้เกิดแนวคิดการจัดตั้ง “สภาการศึกษาจังหวัดลำพูน” เพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว
ปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งนี้นักวิชาการได้ให้ข้อคิดเห็นหลากหลายภายใต้กระแสการปฏิรูปประเทศ ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ย้ำว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นเจ้าภาพหลักดำเนินงานต่อเนื่องในระยะยาว ขณะที่ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ย้ำว่าการริเริ่มจากท้องถิ่น พร้อมกับการขับเคลื่อนในพื้นที่ซึ่งมาจากร่วมมือของทุกฝ่ายทำให้มีพลัง แต่ต้องไม่ลืมความสัมพันธ์กับส่วนกลาง
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต