การนำเสนอสื่อ กับความหลากหลายทางเพศ
หากถามว่าการนำเสนอของสื่อ เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่น ชายรักชาย หญิงรักหญิง ในรูปแบบของละคร มิวสิควีดิโอ ฯลฯ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นหรือไม่นั้น
อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือคุณหมอโอ๋ กุมารแพทญ์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีงานวิจัยที่สรุปว่าสื่อที่นำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศ ทำให้วัยรุ่นเป็นเพศหลากหลายมากขึ้น แต่หมอเชื่อว่าสื่อน่าจะมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของวัยรุ่นและสังคมที่มีต่อความหลากหลายทางเพศ นั่นหมายถึงอาจจะเป็นไปได้ทั้งแง่บวกแง่ลบ
ยกตัวอย่าง เช่น สื่อที่นำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้ง อาจจะช่วยให้วัยรุ่นหลายคนมีความเข้าใจในเรื่องเพศของตัวเองหรือคนใกล้ชิด รวมถึงอาจทำให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ดีขึ้น ในขณะที่สื่อที่ผลิตซ้ำความเชื่อเดิมๆ ที่ไม่มีคำยืนยันทางวิทยาศาสตร์ เช่น คนรักเพศเดียวกันเป็นพวกอารมณ์รุนแรง ผิดปกติหรือมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
สื่อเหล่านี้ก็อาจจะมีอิทธิพลต่อความสับสนในการยอมรับตัวเองของเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือทำให้เกิดการไม่ยอมรับของครอบครัวและสังคมที่มากขึ้นได้ รวมถึงสื่อที่นำเสนอซ้ำๆ จนทำให้เกิดภาพจำของคนที่มีความหลากหลายทางเพศผิดเพี้ยนไป เช่น เป็นสาวประเภทสองต้องกรี๊ดกร๊าด หรือทำตัวตลกขบขัน ก็อาจจะทำให้เกิดมุมมอง ความเชื่อที่ผิดๆ ต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้
สำหรับวัยรุ่นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และสับสนง่าย อย่างในเรื่องความรัก หมอโอ๋ มีคำแนะนำเกี่ยวกับความรักของวัยรุ่นที่ควรรักอย่างปลอดภัยและเป็นสุข ว่า คนที่จะรักคนอื่นได้ดี คือ คนที่รักตัวเองให้ดีได้ก่อน เมื่อเรารักตัวเองมากพอ เราจะรู้ว่าใคร เป็นอย่างไร แบบไหน และอะไรที่เป็นความรักที่เหมาะกับเรา
หลักการง่ายๆ ของการมีความรักที่ดี คือ ความรักที่ไม่ทำให้ชีวิตมีความทุกข์มากกว่าสุข ต้องไม่ทำให้ชีวิตเราแย่ลง ความสับสนเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดได้ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เราเองก็เรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเอง ดังนั้นเรื่องบางอย่างก็ต้องอาศัยเวลาด้วย
ที่มา : อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือคุณหมอโอ๋ กุมารแพทญ์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต